Roojai

ต้องติดฟิล์มกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะพอดี

มันเหมือนเป็นปัญหาโลกแตก สำหรับการติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์ กับคำถามที่ว่า “ติดฟิล์มแบบไหนดี” คนใช้รถบ้านเราปัจจุบันเหมือนกันมีหลายกลุ่มหลายประเภท กลุ่มคนที่ใช้รถปกติคงมีปัญหาอะไรไม่มาก เมื่อมองแค่เพียงว่า ประเทศไทยเมืองร้อน ติดเพื่อป้องกันความร้อนจากอากาศภายนอกได้ก็พอ ไม่อยากให้รถเป็นเหมือน “ไมโครเวฟ”

กับอีกกลุ่ม เป็นพวกรถแต่ง ที่จะมองว่า ติดฟิล์มแบบไหนเหมาะกับสีรถ เข้ากับตัวรถ หรือเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้ขับขี่และทุกวันนี้ “ฟิล์มติดรถยนต์” กลายเป็นของแถมยอดนิยมสำหรับผู้ซื้อรถป้ายแดง เมื่อพนักงานขายหรือเซลส์ตามโชว์รูมชอบถามว่าติดฟิล์มรถยนต์กี่เปอร์เซนต์ แบบไหนดี พร้อมกับกลางแคตตาล็อกให้เลือก “เอาแบบหน้า 40 รอบคันกระจกหน้าต่าง บานหลัง 60 ดีไหมพี่”

แล้วไอ้ตัวเลขที่บอกมันคืออะไรละ? บอกได้เลยหลายคนยังเข้าใจผิดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ในหลักการเทคนิคของผู้ผลิต และจำหน่ายฟิล์มนั้นมีฟิล์มกรองแสงรถยนต์ยอดฮิตที่จำหน่ายในบ้านเราอยู่ไม่กี่เบอร์ เช่น 05,20,35 และ 50 แต่ร้านติดฟิล์มกับมาบอกผู้ใช้บริการว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ ทำให้สับสนกันไปใหญ่ เพราะความจริงแล้ว เบอร์ที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นเป็นความเข้มของฟิล์มที่แสงสามารถส่องผ่านได้ อย่างเช่น เบอร์ 05 ที่แสงสามารถผ่านได้ 5 เปอร์เซ็นต์ จะมีความเข้มที่ 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ร้านจำหน่ายจะบอกลูกค้าว่าฟิล์ม 80 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงฟิล์มเบอร์ 20 ที่ปล่อยแสงผ่านได้ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับความเข้ม 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ในตลาดจะเรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่า 60 เปอร์เซ็นต์ งงไหมละครับ

how-many-percent-film-for-your-car-photo2

ดังนั้นเมื่อเวลาเราบอกว่าติดฟิล์ม 80% เราจึงได้ฟิล์มที่มีแสงส่องเข้ามาได้แค่ร้อยละ 5 ในขณะที่ความเข้มจริงของฟิล์มสูงถึง 95% เลยทีเดียว

คราวนี้มาดูประเด็นสำคัญของการเลือกติดฟิล์มกรองแสงรถยนต์กันบ้าง จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสภาพอากาศในเมืองไทย ค่าความร้อนจากแสงแดด ฟิล์มรถยนต์ที่ดีจะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนจากแสงแดดเป็นหลัก ไม่ใช่ป้องกันเฉพาะแสงอินฟราเรด และที่สำคัญต้องป้องกันรังสี UV ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99  ค่าการสะท้อนแสงของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่กระจกบานหน้าไม่ควรเกิน 10% ถ้าเกินกว่านี้จะรบกวนรถที่สวนทาง รวมทั้งคนภายในที่มองออกไปอาจสะท้อนเงาตัวเองทำให้มองเห็นด้านนอกไม่ชัดเจนจนเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนฟิล์มที่ติดรอบคันไม่ควรเกิน 30%

มีฟิล์มชนิดหนึ่งที่สามารถกันความร้อนได้ดี “ฟิล์มปรอท” แต่มีข้อเสีย และยังผิดกฎหมาย แต่มาแจ้งให้ไว้เป็นความรู้แล้วกัน ฟิล์มปรอท เป็นฟิล์มที่สามารถกันความร้อนได้ดี เนื่องจากเป็นฟิล์มติดอาคารที่นำมาติดในรถยนต์ แต่ผลเสียของฟิล์มชนิดนี้คือความเงาแวววาว ทำให้มีค่าสะท้อนแสงที่สูงลิ่ว จึงไม่เหมาะที่จะนำมาติดกับกระจกบานหน้ารถอย่างที่สุด เพราะฟิล์มปรอทความเข้ม 60% สามารถลดความร้อนได้ 65-80% ก็จริง แต่ค่าสะท้อนแสงปาไปถึง 25-30% เข้าให้แล้ว ในขณะที่ฟิล์มดำจะมีค่าสะท้อนแค่ 8-10%  แต่ก็สามารถลดความร้อนได้แค่ 50-60% เช่นกัน

ส่วนหัวข้อนี้ เอาไว้ประกอบข้อมูลในการตัดสินใจแล้วกัน เป็นข้อมูลจากกลุ่มชอบแต่งรถ ถึงฟิล์มกรองแสงรถยนต์กับความสวยงามเข้ากับสีของรถก็เป็นสิ่งจำเป็น รถที่มีสีอ่อนจะเหมาะสมกับฟิล์มที่มีสีเข้มและหลีกเลี่ยงฟิล์มปรอท โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถสีขาวเมื่อรวมเข้ากับฟิล์มปรอทหรือฟิล์มที่มีเงาสะท้อนสูงด้วยแล้วยิ่งทำให้รถดูราบเรียบไร้มิติ ส่วนรถสีเข้มจะสามารถเลือกฟิล์มได้แทบทุกชนิดและง่ายกว่า แต่สุดท้ายแล้วอยู่ที่รสนิยมของเจ้าของรถต่างหากที่เป็นตัวตัดสินว่าพอใจที่จะเลือกแบบไหน

มาถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจ คือ ยี่ห้อและตัวแทนจำหน่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะปล่อยละเลยไปไม่ได้ ตัวฟิล์มต้องมีแหล่งผลิตที่ชัดเจนและมั่นคงมายาวนานเป็นที่เชื่อถือ รวมทั้งต้องมีการรับประกันคุณภาพฟิล์มที่ไม่ต่ำกว่า 7 ปีเป็นอย่างน้อย รวมถึงควรศึกษาในข้อกฎหมายด้วยว่าติดฟิล์มรถยนต์กี่เปอร์เซ็นต์ ถึงจะไม่โดนจับ โดยเฉพาะรถประเภทขนส่งสาธารณะ

ถ้าไม่แม่นเกี่ยวกับข้อมูลเทคนิคของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ ขอแนะนำให้ขอดูตัวอย่างรถที่ติดฟิล์มจากร้านติดตั้ง หรือผู้ที่ซื้อรถป้ายแดงกับโชว์รูม สามารถแจ้งขอดูได้นะครับ เพราะแต่ละโชว์รูมมีร้านที่ประจำที่รับติดตั้งให้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นคุณจะเหมือนตาบอดข้างหนึ่งในเวลาขับรถ