Roojai

ติดฟิล์มกรองแสงอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ ‘ติดฟิล์มกรองแสง’ ให้กับรถยนต์ เป็นสิ่งที่เจ้าของรถส่วนใหญ่มักพึงปฏิบัติทั้งสิ้น ด้วยเพราะภูมิประเทศของไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน สภาวะอากาศโดยทั่วไปจึงร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี การขับรถไปไหนมาไหนโดยไม่มีฟิล์มกรองแสงหรือใช้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ แถมยังส่งผลกระทบถึงการทำงานระบบปรับอากาศของรถยนต์อีกด้วย ซึ่งบางครั้งผู้ใช้รถหลายคนอาจยังไม่ทราบรายละเอียดและคุณสมบัติของฟิล์มเท่าที่ควร จึงมักเลือกความเข้มมากๆ ไว้ก่อน เพราะคิดหรือเชื่อว่าช่วยกันแสงและความร้อนได้ดีกว่า

ในปัจจุบันฟิล์มกรองแสงมีพัฒนาการและเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำหน้ากว่าในอดีต สามารถพิสูจน์และลบความเชื่อแบบเดิมๆ ว่า ฟิล์มเข้มๆ สามารถกันแสงและความร้อนได้ดีนั้นไม่จริง เพราะว่าฟิล์มใสๆ ก็สามารถกรองแสงและกันความร้อน รวมถึงป้องกันแสงยูวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นปัจจัยของความเข้มก็ไม่ใช่ตัวแปรในการเลือกซื้ออีกต่อไป และวันนี้ทีมงานได้นำเสนอแนวทางการเลือกผลิตภัณฑ์อย่างไรให้ได้คุณภาพ มาเป็นข้อมูลให้ได้ศึกษาก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อฟิล์มกรองแสง

ช่วงยุคแรก ๆ ที่เริ่มมีการนำเข้าฟิล์มกรองแสงมาจำหน่ายในประเทศไทย มีการแบ่งความเข้มของฟิล์มเป็นตัวเลข เช่น 05, 20, 35 และ 50 โดยเบอร์นั้น ๆ ตามมาตรฐานสากล บ่งบอกถึงค่าที่แสงสามารถส่องผ่านได้ เช่น เบอร์ 05 แสงจะส่องผ่านได้ประมาณ 5% ฟิล์มมีความเข้ม 95% , เบอร์ 20 แสงจะส่องผ่านได้ 20 % ฟิล์มมีความเข้ม 80% เป็นต้น แต่ช่วงเวลานั้นทั้งผู้บริโภคและผู้จำหน่ายยังไม่ทราบรายละเอียดที่ถูกต้อง จึงเรียกความเข้มของฟิล์มแทน เช่น เบอร์ 05 แสงผ่านได้ 5% ฟิล์มจะมีความเข้ม 95% แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่าฟิล์ม 80%, เบอร์ 20 แสงส่องผ่านได้ 20% ฟิล์มจะมีความเข้ม 80% แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่าฟิล์ม 60% , ฟิล์มเบอร์ 50 แสงส่องผ่านได้ 50% ฟิล์มจะมีความเข้ม 50 % แต่เรียกฟิล์มเบอร์นี้ว่า 40% ซึ่งการเรียกดังกล่าวเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อนไปจากความจริงทั้งสิ้น

ส่วนในด้านกฎหมาย หลังมีการประกาศยกเลิกกฎหมายฟิล์มกรองแสงตั้งแต่ปี 2543 เจ้าของรถสามารถติดฟิล์มที่มีความเข้มกี่เปอร์เซ็นต์เท่าไรก็ไม่มีความผิด แต่สิ่งสำคัญควรดูด้านความปลอดภัยในการขับขี่เป็นหลักสำคัญ เช่น หากเลือกฟิล์มที่มีความเข้มเกินไปกลางคืนก็จะมองได้ไม่ชัดเจน ส่วนฟิล์มประเภทปรอท ด้วยองค์ประกอบที่มีโลหะฉาบอยู่ และหากมีแสงมากระทบก็จะสะท้อนแสงมากเหมือนกระจก ก็มีโอกาสอาจเข้าข่ายการติดตั้งฟิล์มกรองแสงรถยนต์ที่มีการสะท้อนแสงสูง ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 ว่าด้วยเรื่องของส่วนควบ ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้

สำหรับการเลือกฟิล์มกรองแสง ฟิล์มที่ดีต้องไม่มีแค่คุณสมบัติการช่วยลดแสงจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่มีควบคู่กันต้องมีความสามารถในการสะท้อนพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ดี และสามารถป้องกันแสงยูวีได้ด้วย ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตลอดการขับขี่ อีกทั้งช่วยลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถด้วย ซึ่งทางเทคนิคฟิล์มที่มีค่า SHADING COEFFICENT (SC) ต่ำๆ นั้น มีส่วนช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการปรับอากาศได้ และต้องเป็นฟิล์มที่มีความปลอดภัย สามารถยึดเกาะกระจกได้ ส่วนกรณีที่รถเป็นกระจกสีชา ให้เลือกฟิล์มที่มี SC ไม่เกิน 0.45 และมีค่า SOLAR ENERGY ABSORBED ไม่เกิน 45% เพื่อป้องกันการแตกกระจายของกระจก

การจะเลือกฟิล์มกรองแสงให้ดีและสามารถปกป้องแสงและความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ก็เปรียบได้กับการเลือกประกันรถ มีประกันดีๆ อย่าง “รู้ใจ” คุ้มครองไว้อุ่นใจแน่