Roojai

คาดเข็มขัดนิรภัยผิดๆ อาจเจ็บตัวได้ง่าย

ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีอยู่ในรถยนต์แต่ละคัน ล้วนมีความจำเป็นและมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับ ‘เข็มขัดนิรภัย’ ในรถยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์ สิ่งสำคัญการใช้งานก็ต้องถูกต้องถูกวิธีด้วยเช่นกัน เพราะหากเกิดอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัยจะช่วยรั้งผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารให้ติดกับเบาะที่นั่ง ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถหรือไปกระแทกกับส่วนของรถยนต์

ประโยชน์ของเข็มขัดนิรภัยคือ ช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ โดยผลการศึกษาจากงานวิจัยในหลายประเทศต่างยืนยันว่า เข็มขัดนิรภัยมีบทบาทสำคัญในการลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้จริง และพบว่าสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ 40-50% ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึง 43-65% และลดการเสียชีวิตได้ 40-60% โดยจากการทดสอบประสิทธิภาพของเข็มขัดนิรภัยในการชนหลาย ๆ ประเภท พบว่ารถที่เกิดการพลิกคว่ำ เข็มขัดนิรภัยจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด 77% รองลงมาคือการชนด้านท้าย 49% และอันดับสามคือ การชนด้านหน้า 43% ซึ่งเข็มขัดนิรภัยช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้จริง

อันตรายจากที่เกิดการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ยกตัวอย่างแรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูง 14 เมตร (สูงประมาณตึก 5 ชั้น) และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัย กระจกหน้ารถ หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ นอกจากนี้อวัยวะในร่างกาย เช่น ตับ ไต ลำไส้ สมองหรือไขสันหลังจะเคลื่อนไหวเท่ากับความเร็วของรถ เมื่อรถชนหรือหยุด อวัยวะภายในจะกระแทกกันเองทำให้ตับ ไต ลำไส้ หรือสมองฉีกขาดได้

ประเภทของเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์มีอยู่ 3 รูปแบบ แบบแรกเป็นเข็มขัดนิรภัยยึด 4 จุด มีลักษณะเป็นสายเข็มขัดที่ยืดยึดติดกับบริเวณของพื้นรถ 2 จุด เพื่อคาดบริเวณตักและอีก 2 จุด ยึดจากโรลบาร์ผ่านเบาะนั่งคนขับ มาบรรจบกับ 2 จุดแรกนี้ นิยมใช้ในรถแข่ง แบบที่ 2 เป็นเข็มขัดนิรภัยยึด 3 จุด มีลักษณะเป็นสายเข็มขัดที่ยึดจากเสากลางหนึ่งจุด และยึดจากพื้นรถอีก 2 จุด มีลักษณะเป็นสายเข็มขัดที่ยึดจากเสากลางหนึ่งจุด และยึดจากพื้นรถอีก 2 จุดเมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยสายเส้นหนึ่งจะคาดผ่านบริเวณไหล่ของคนนั่ง ส่วนอีกเส้นหนึ่งจะคาดผ่านบริเวณตัก นิยมใช้ในรถยนต์ทั่วไป โดยติดตั้งที่เบาะนั่งสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า แบบที่ 3 เป็นเข็มขัดนิรภัยยึด 2 จุด มีลักษณะเป็นสายเข็มขัดที่ยึดจากพื้นรถด้านหนึ่ง ไปอีกด้านหนึ่งโดยคาดผ่านบริเวณตัก มักจะใช้กับที่นั่งผู้โดยสารตอนหลัง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้โดยสารที่นั่งตอนหลังมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ส่วนเข็มขัดนิรภัยที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไปปัจจุบันจะเป็นแบบ 3 จุด ที่สามารถดึงตัวกลับได้โดยอัตโนมัติ เมื่อผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ ก็สามารถขยับตัวได้อย่างเป็นอิสระในขณะที่ขับขี่ด้วยความเร็วที่คงที่ แม้ว่าเข็มขัดนิรภัยจะแนบตัวอยู่ก็ตาม โดยมีลักษณะเป็นเข็มขัดที่มีความไวสูงและถูกออกแบบให้ล็อกตัวในทันทีเมื่อเบรกอย่างรุนแรง

เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด จะมีสายเข็มขัดที่คาดจากไหล่โอบมาหน้าและสะโพกพร้อมกับตัวดึงล็อกฉุกเฉิน แน่นอนว่าวิธีการคาดเข็มขัดนิรภัยถือเป็นสิ่งที่ผู้ขับรถและโดยสารควรใส่ใจ ทั้งนี้เพื่อเข็มขัดสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากท่านั่งของผู้ขับและผู้โดยสาร ซึ่งต้องไม่ปรับพนักพิงให้เอนหรือตั้งชันมากเกินไป รวมถึงระยะห่างจากเบาะถึงคอนโซลหน้าก็ต้องไม่ชิดเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้อยู่ในท่าที่ปลอดภัยที่สุดเนื่องจากการปรับพนักพิงเอนหรือตั้งชันไป อาจทำให้เข็มขัดนิรภัยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

จากนั้นให้คาดเข็มขัดนิรภัยตามปกติ แต่หลังจากคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วต้องปรับแต่งสายเข็มขัดนิรภัยให้เหมาะสม เช็คดูว่าสายบิดผิดรูปหรือไม่ ส่วนสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดผ่านหน้าตักหรือแนวสะโพก ให้อยู่ในแนวสะโพกพอดี แล้วดึงให้กระชับอย่าให้หลวมจนเกินไป

ด้านสายเข็มขัดนิรภัยที่พาดผ่านมายังแนวบ่า ควรผ่านร่องไหล่พอดี แนวเข็มขัดให้พาดผ่านระหว่างกลางอก ถ้าเป็นรถที่สามารถปรับระยะสูง/ต่ำของเข็มขัดนิรภัยได้ควรปรับให้เหมาะสมกับสรีระ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น เข็มขัดนิรภัยจะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับสตรีมีครรภ์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้คาดเข็มขัดนิรภัยในตำแหน่งที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ โดยคาดเข็มขัดนิรภัยผ่านร่องอกลงมาด้านข้างของช่องท้อง ไม่คาดทับบริเวณหน้าท้อง โดยให้สายเข็มขัดนิรภัยอยู่เหนือต้นขา พร้อมใช้หมอนใบเล็กหรือผ้าขนหนูรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่างแล้วจึงคาดเข็มขัดนิรภัยทับ จะช่วยลดแรงกดทับและการเสียดสีของเข็มขัดนิรภัยที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กในครรภ์ พร้อมปรับเบาะนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยประมาณ 10 นิ้ว เมื่อประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระตุกของเข็มขัดนิรภัย