Roojai

เปิดสถิติไฟไหม้ แนะ 5 วิธีป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน

Article Roojai Verified
เปิดสถิติไฟไหม้บ้านในไทย | รู้ใจประกันภัย

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และสูญเสียร้ายแรง ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดกับบ้านมากที่สุด คือ อัคคีภัยหรือไฟไหม้บ้าน แต่ทว่าในประเทศไทยกลับมีอัตราการเกิดเหตุการณ์นี้สูงมาก ๆ ด้วยสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้น และช่วงฤดูร้อนที่แสนยาวนาน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ คงจะดีไม่ใช่น้อยหากรู้เท่าทันสาเหตุไฟไหม้ พร้อมวิธีวิธีป้องกันไฟไหม้อย่างแยบยล เพื่อป้องกันความเสียหายให้กับบ้านหรืออาคารสถานที่ของคุณเอง

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

เปิดสถิติ ประเทศไทยเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้บ้านบ่อยแค่ไหน?

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยข้อมูลสถิติสาธารณภัยในปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566) ซึ่งเป็นข้อมูลอัคคีภัยที่ได้จากการรวบรวมจากทั่วไทย

  • มีบ้านและที่อยู่อาศัยเสียหายรวม 4,171 หลัง
  • ในจำนวนนี้เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้นมากที่สุด จำนวน 2,400 หลัง
  • รองลงมาคือบ้านเดี่ยวชั้นเดียว  จำนวน 881 หลัง

แสดงให้เห็นว่าบ้านที่เราอยู่อาศัยกันมีความเสี่ยงเกิดเหตุไฟไหม้มากกว่าคอนโดหรือตึกพาณิชย์ ไฟไหม้บ้านเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่เพียงทรัพย์สิน แต่คืออาการบาดเจ็บไปจนถึงชีวิต

สาเหตุไฟไหม้บ้าน | รู้ใจประกันภัย

เช็ค 5 สาเหตุไฟไหม้บ้าน มีอะไรบ้าง?

ต้องยอมรับว่าอุบัติเหตุภายในบ้านอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ หลายคนจึงให้ความสำคัญ และเฝ้าระวังเรื่องใหญ่ ๆ จนมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน จนเกิดเหตุไม่คาดคิดอย่างไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เรามาดูสาเหตุไฟไหม้กันก่อนเลย

1. ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน

เช่น หม้อสุกี้, ปลั๊กพ่วงที่ใช้สายไฟเล็กเกินไป รวมถึงหม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูกที่นอกจากจะใช้สายไฟเส้นเล็กแล้ว ยังไม่มีมาตรฐานอีกด้วย เมื่อใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ไปสักระยะ จะรู้สึกได้เลยว่ามีอุณหภูมิสูงมาก และถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้สายไฟเกิดการละลาย หรือช็อตจนไฟไหม้ได้

2. เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้

รวมถึงการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่างที่ไม่จำเป็นทิ้งไว้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้นมีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ บางทีอาจมีการช็อต หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอยู่ภายใน จนเกิดความร้อนขึ้นในตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า และทำให้เกิดเพลิงไหม้ในที่สุด

3. จุดธูป เทียนบูชาพระ

จุดธูปหรือเทียนทิ้งไว้โดยไม่ระวัง ก็ไม่ต่างกับการปล่อยให้เปลวไฟเล็ก ๆ ค่อย ๆ ล่วงไปบนกองฟาง หากไม่มีใครคอยดูแล ไฟนั้นอาจลุกลามจนเกินควบคุม ตัวอย่างเช่น หลายกรณีที่ผู้คนจุดธูปไหว้พระ แล้วเผลอลืมไปว่าธูปยังคุกรุ่นอยู่ ไม่รอให้ดับสนิท เมื่อปลายธูปสัมผัสกับวัตถุติดไฟง่ายซึ่งมีไม่น้อยภายในบ้าน เช่น ผ้าม่าน กระดาษ หรือไม้ เศษเถ้าที่ร่วงลงมาอาจเป็นชนวนให้เกิดไฟไหม้โดยไม่ทันตั้งตัว สุดท้ายอาจลุกลามเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

4. ใช้เตาแก๊ส เตาไฟฟ้าปรุงอาหาร

ทั้งนี้การใช้เตาแก๊สหรือเตาไฟฟ้าปรุงอาหาร โดยไม่ได้เฝ้าอยู่ตลอดก็เป็นหนึ่งในสาเหตุไฟไหม้เช่นกัน เนื่องจากน้ำในอาหารที่ปรุงจะค่อย ๆ แห้ง จนในที่สุดภาชนะที่ตั้งอยู่บนเตาก็จะแห้งและค่อย ๆ ไหม้

5. ความประมาทของคน

ในส่วนของความประมาท ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ เช่น ไม่ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังเลิกใช้งาน หรือไม่ระมัดระวังในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ ก็ล้วนทำให้เกิดเพลิงไหม้ในบ้านได้ทั้งนั้น

วิธีป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้บ้าน | รู้ใจประกันภัย

ป้องกันไฟไหม้บ้าน ด้วยวิธีไหนดีที่สุด?

เพื่อป้องกันความเสียหายและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านของคุณและคนที่คุณรัก นอกจากจะเฝ้าระวังสาเหตุไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ด้วยการเรียนรู้วิธีป้องกันอัคคีภัยเอาไว้ด้วย โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองทั้งหมด 5 วิธี ดังนี้

1. ติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้า เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร

สำหรับบ้านและอาคารควรมีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร เมื่อแผงวงจรไฟฟ้าเกิดประกายไฟ อุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำการตัดวงจรไฟฟ้าทันที เพื่อป้องกันไฟไหม้บ้าน หากสนใจสามารถหากซื้อได้ตามร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป

2. หมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งต่อมาคือการตรวจเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้ารอบบ้านให้เรียบร้อย ว่ามีอะไรชำรุด เสียหายบ้างหรือไม่ เช่น สายไฟ เต้ารับไฟฟ้า เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้เมื่อมีการชำรุดมักก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านหรืออาคาร

3. เพิ่มความระมัดระวังในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ

ไม่ว่าคุณจะประกอบอาหาร จุดธูปเทียนบูชาพระ จุดยากันยุง หรือใด ๆ ก็ตาม ควรเพิ่มความระมัดระวังในการทำกิจกรรมเหล่านี้สักหน่อย เช่น เมื่อประกอบอาหารไม่ควรทิ้งเตาไว้นาน ๆ และควรปิดวาล์วถังแก๊สทุกครั้ง

4. ติดตั้งสัญญาณเตือนอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน

อุปกรณ์เตือนภัยหรือสัญญาณเตือนไฟไหม้ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ โดยเฉพาะกับอาคารต่าง ๆ เพราะจะช่วยแจ้งเตือนลูกบ้านที่อยู่ภายในอาคารก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด และทำให้ผู้คนไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ในส่วนของบ้านพักอาศัยก็สามารถติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน โดยสามารถเลือกอุปกรณ์ตรวจจับได้ทั้งหมด 3 แบบ ดังนี้

  • อุปกรณ์ตรวจจับควัน (Smoke Detector)
  • อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน (Heat Detector)
  • อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ (Fire Detector)

5. ทำประกันอัคคีภัยให้กับบ้านและอาคาร

    แม้ว่าคุณจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และเฝ้าระวังภัยต่าง ๆ เป็นอย่างดี แต่ก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ได้อยู่ดี ดังนั้นเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการสูญเสียทรัพย์สิน แนะนำให้ทำประกันบ้านพักและอาคารของคุณ แม้จะเป็นวิธีป้องกันทางอ้อม แต่ก็ถือเป็น ‘การลงทุนด้านความปลอดภัยที่คุ้มค่า’

    วิธีเอาตัวรอดเมื่อไฟไหม้บ้าน | รู้ใจประกันภัย

    วิธีเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน

    อย่างที่ทราบกันดีว่า “ไฟไหม้บ้าน” เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุในบ้าน ที่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะป้องกันดีแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นเพื่อลดความเสียหายและความสูญเสีย จึงควรทำความเข้าใจวิธีเอาตัวรอดไว้ด้วยเช่นกัน มีรายละเอียดต่อไปนี้

    • ถ้าบ้านของคุณมีสัญญาณเตือนไฟไหม้ให้กดหรือดึงเพื่อเตือนผู้อื่น จากนั้นรีบพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โทร 199 แจ้งเหตุไฟไหม้เพื่อขอความช่วยเหลือจากนักดับเพลิง
    • ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปากถ้าหากต้องฝ่าควันไฟ เพื่อช่วยกรองเขม่าและสารพิษ ลดความเสี่ยงต่อการสำลักควัน
    • ขณะเคลื่อนย้ายเพื่อไปยังทางออก ให้ใช้วิธีหมอบคลานต่ำ หรือย่อตัวให้ได้มากที่สุด เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ในที่ต่ำ
    • หากสวมใส่เครื่องประดับ เช่น ต่างหู, นาฬิกา, สร้อย, กำไล ฯลฯ ควรถอดออกจากตัว เพราะเครื่องประดับเหล่านี้มักอมความร้อน อาจทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเกิดการพุพองได้
    • อย่าวิ่งฝ่ากองไฟ หากอยู่ในตำแหน่งที่เปลวไฟล้อมรอบ เพราะนอกจากจะเสี่ยงถูกไฟคลอกแล้ว ออกซิเจนที่อยู่ใกล้ไฟยังมีน้อยซึ่งอาจทำให้หมดสติกลางทาง ควรมองหาทางออกที่ปลอดภัยกว่า
    • ถ้าไม่สามารถพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุได้ พยายามหาผ้าชุบน้ำมาปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมควันและสารอันตราย หรือใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่   กวาดอากาศที่ไม่มีควันใส่ถุงให้พอง เพื่อลดอาการสำลักควัน
    • หากระหว่างที่เกิดเหตุตัวคุณเองอยู่ในห้อง ก่อนเปิดประตูควรใช้หลังมือสัมผัสลูกบิด หรือผนังประตูก่อน ถ้าพบว่ามีความร้อนมากห้ามเปิดเด็ดขาด เพราะอาจมีไฟลุกอยู่หลังประตู ให้รับมือด้วยการหาผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้อง
    • เลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ เช่น ซอกกำแพง ในห้องน้ำ หรือชั้นใต้ดิน เพราะเสี่ยงต่อการถูกไฟคลอก

    Tips: วิธีแก้ปัญหาไฟไหม้ที่ติดตัวหรือเสื้อผ้า ด้วยสเต็ป Stop-Drop-Roll

    หากในกรณีที่เหตุการณ์ไฟไหม้บ้านค่อนข้างรุนแรง ไฟโหมหนักจนติดตัวหรือเสื้อผ้าของคุณ สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือตั้งสติ พร้อมกับปฏิบัติตามสเต็ป Stop-Drop-Roll ดังนี้

    • Stop : หยุดวิ่งทันที เพราะการวิ่งจะทำให้มีลมพัดผ่าน โหมไฟให้แรงมากขึ้น
    • Drop : จากนั้นนอนราบลงไปกับพื้น เพื่อช่วยหยุดไฟไม่ให้ลามไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
    • Roll : กลิ้งหรือหมุนตัวไปกับพื้นจนกว่าไฟจะดับ ระหว่างนั้นให้เอามือปิดใบหน้าเอาไว้ 

    อัคคีภัย เป็นหนึ่งในภัยที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด แต่ด้วยปัจจัยและความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างก็เป็นเหตุทำให้พบเจอเหตุการณ์ไฟไหม้บ้านอย่างไม่คาดคิด ฉะนั้นจึงควรเรียนรู้วิธีป้องกันและวิธีแก้ปัญหาไฟไหม้ติดตัวเอาไว้ พร้อมกับทำประกันบ้านและประกันอื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ ซึ่งถือเป็นการลงทุนด้านความปลอดภัยที่คุ้มค่ามากที่สุด

    สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)

    คำจำกัดความ

    สาธารณภัย ภัยที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของคนจำนวนมากอย่าง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้
    ไฟฟ้าลัดวงจร การไหลของกระแสไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่างกันมาก ๆ มาสัมผัสกัน ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานเป็นจำนวนมาก จนเกิดความร้อนสูงและประกายไฟ
    previous article
    < บทความก่อนหน้า

    เม็ดเลือดขาวต่ำอันตรายมั้ย? ผลต่อร่างกายและวิธีการรักษา