Roojai

10 ความเชื่อรักรถแบบผิดๆ

รักรถยิ่งกว่าเมีย..ประโยคสั้นๆ ที่มักถูกหยิบยกและนำมาเปรียบเทียบการดูแลเอาใจใส่ ประคบประหงมรถคันโปรดมากกว่าภรรยาแบบออกหน้าออกตา เรียกว่าเมื่อใดฝุ่นจับขี้โคลนเกาะ หรือมีรอยขีดข่วนเล็กๆ น้อยยังต้องรีบแก้ไขเพื่อให้มาอยู่ในสภาพสวยเนี๊ยบดังเดิม หรือวิธีการอะไรที่เห็นดีและมีประโยชน์ ช่วยถนอมให้รถมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นก็รีบนำมาทำหรือปรับใช้กับรถตนเองทันที

แต่อย่างไรก็ดี กรรมวิธีการดูแลรักษาหรือการใช้รถที่หลายคนยึดถือปฏิบัติ ก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไปหรือกลายเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นผลดี แต่ในทางกลับกันหากทำไปแล้วก็ยังส่งผลเสียในด้านประสิทธิภาพและความคงทนอีกด้วยซ้ำ วันนี้เราจึงยกตัวอย่างการดูแลรักษารถแบบผิดๆ ที่ยังมีคนเชื่อและยังนำมาปฏิบัติใช้อยู่ในปัจจุบัน

1.ยกก้านปัดน้ำฝนขึ้นเวลาจอดรถตากแดด หลายคนเชื่อว่าทำแบบนี้แล้วสามารถช่วยยึดอายุการใช้งานของยางปัดน้ำฝน บอกเลยแทบไม่มีผลครับ ไม่ว่าจะยกหรือวางในตำแหน่ง อายุการใช้งานหรือความคงทนก็ไม่ได้มีมากขึ้นหรือช่วยให้เสื่อมช้าลงไปจากเดิมเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่อายุการมีอายุการใช้งานประมาณ 1 ปี ขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียให้สปริงของก้านปัดล้า ซึ่งราคาเปลี่ยนก็มีมูลค่าสูงกว่าแน่นอน ถ้าจะถนอมจริงๆ เป็นไปได้แนะนำให้จอดในที่ร่มดีกว่า

2.ควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องทุก 5,000 กม. จะช่วยอายุและลดการสึกหรอเครื่องยนต์ เรียกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบตรงเป๊ะ เราไม่ปฏิเสธว่าเมื่อ 10-20 ปี ที่แล้วน้ำมันเครื่องยังไม่ได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการปกป้องหรือหล่อชื้นส่วนเครื่องยนต์ได้ดีเหมือนปัจจุบัน  แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ทุกอย่างล้วนถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น น้ำมันเครื่องมีเกรดหรือทางเลือกให้ผู้ใช้รถได้เปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและทุนทรัพย์ เกรดปิโตรเลียมธรรมดาก็เพิ่มอายุเป็น 5,000-7,000 กม. ส่วนกึ่งสังเคราะห์ก็ได้ถึง 10,000 กม. และสำหรับสังเคราะห์ก็ 10,000 กม. บวกๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานของแต่ละคน

3.ควรใช้ตำแหน่งเกียร์ D ทุกครั้งที่ติดไฟแดง จริงๆ ก็ไม่ต้องปฏิบัติเหมือนเดิมทุกๆ ครั้ง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจอดมากกว่า อย่างในกรณีที่ติดไฟแดงนานๆ ยกตัวอย่างในย่านสีลม สาธรหรือสุขุมวิทอะไรโซนนี้ ติดที 5-10 นาที ก็ควรเปลี่ยนเป็นเกียร์ N จะปลอดภัยกว่า โดยไม่ต้องกังวลว่าถ้าใส่เกียร์ D ไว้แล้วเผลอปล่อยเบรกรถจะไหลพุ่งไปชนรถคันหน้าได้ ส่วนหากติดไม่นาน 10-30 วินาที ก็สามารถใส่เกียร์ D คาไว้ พร้อมกับเหยียบเบรกเพื่อป้องการรถเคลื่อนตัว ที่สำคัญการเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ก็ไม่ได้ผลต่อการสึกหรอมากนัก ซึ่งสาเหตุการสึกหรอส่วนใหญ่เกิดจากอุปนิสัยของผู้ขับ เช่น ลากเกียร์หรือเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ไม่สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ (เกียร์อัตโนมัติที่มีโหมดแมนนวล +/-)  หรือไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ตามระยะเวลากำหนด

4.เติมลมยางแข็งทำให้ยางระเบิดได้ ตรงกันข้ามครับ จริงๆ สาเหตุที่ทำให้ยางระเบิด โดยเฉพาะเมื่อขับระยะไกลนั้น มาจากลมยางอ่อนเกินไป เพราะแก้มยางมีหลายชั้นซ้อนกัน ซึ่งถ้าลมอ่อนแก้มยางจะย้วยและยืดยุบตลอดเวลาและร้อนจนอาจระเบิด แถมยังทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมากกว่าปกติ ส่วนการเติมลมยางจนแข็งเกินไป ก็อาจทำให้ขับแล้วรู้สึกกระด้าง และลดการเกาะถนนเนื่องจากแก้มยางยกตัวขึ้น แล้วถามว่าเติมอย่างไรให้ปลอดภัย ส่วนใหญ่มากอิงจากค่าที่ระบุไว้กับคู่มือรถ รถขนาดเล็กประมาณ 25-30 ปอนด์ รถขนาดกลางถึงใหญ่ 30-35 ปอนด์ รถกระบะ 35-65 ปอนด์  และในกรณีที่ต้องเดินทางระยะไกล ควรเพิ่มแรงดันลมมากกว่าเดิมไว้ประมาณ 2-4 ปอนด์

5.ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E 85 ทำให้สมรรถนะของรถยนต์ลดลงและระเหยเร็วกว่า ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย ในทางกลับกัน เอทานอลบริสุทธิ์มีระดับออกเทนอยู่ที่ 107 -113 ซึ่งสูงกว่าน้ำมันเบนซินที่มีอ็อกเทนอยู่ที่ 91 และ 95 ดังนั้น การผสมเอทานอล ลงในน้ำมันเบนซิน ออกมาเป็นน้ำมัน E85 จะช่วยเพิ่มค่าอ็อกเทนให้กับน้ำมันมากยิ่งขึ้นกว่าน้ำมันเบนซินธรรมดา ส่วนเหตุผลที่หมดเร็วนั้นหรือวิ่งได้ระยะทางน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่นนั้น ไม่ได้เกิดการการะเหย แต่เกิดพลังงานจาก E85 น้อยกว่าน้ำมันเบนซิน เมื่อเทียบจากการเผาไหม้ในปริมาณที่เท่ากัน ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการจ่าย E85 สำหรับการเผาไหม้ให้มากขึ้น (จึงเป็นคำตอบว่าทำไมถึงหมดเร็วกว่า) และเมื่อจ่ายเชื้อเพลิงมากกว่าก็กลายเป็นข้อดีที่ทำให้อุณหภูมิในการเผาไหม้ของ E85 มีความเย็นมากกว่าและเผาไหม้ได้นานกว่า แทนที่จะเป็นการระเบิดแบบรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ ก็กลายเป็นการระเบิดที่ยาวตลอดการเคลื่อนที่ลงของลูกสูบ ส่งผลให้มีแรงบิดที่ต่อเนื่องกว่า

6.ขับทางไกลยิ่งขับช้ายิ่งประหยัด จริงๆ หลายคนเข้าใจผิดว่ายิ่งขับรถช้าประมาณ 50-60 กม./ชม. ก็จะยิ่งประหยัดน้ำมัน ซึ่งความเป็นจริงหากขับรถทางไกลด้วยความเร็วช้าจนเกินไป กลับยิ่งทำให้กินน้ำมันมากขึ้น เพราะกำลังจากเครื่องยนต์ไม่ได้ถูกตัดต่อกำลังให้อยู่ในตำแหน่งเกียร์สูงสุด รวมถึงอาจยังมีการเปลี่ยนเกียร์ไปมาในจังหวะเหยียบคันเร่ง ซึ่งยิ่งทำให้กินน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอีก ทางที่ดีควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมประมาณ 90-100 กม./ชม. จะได้ความประหยัดมากกว่า

7.เคลือบแก้วแล้วสามารถป้องกันเศษหินหรือการกระแทกได้ ในความเป็นจริง คุณสมบัติของการเคลือบแก้ว คือ ปกป้องสีรถจากมลภาวะต่างๆ เช่น ฝนกัดชั้นสีผิวรถ รอยขนแมว แสงยูวี รวมถึงคราบขี้นก ยางไม้ หรือยางมะตอย และให้ความเงางามสดใสสูงกว่าการเคลือบสีระยะสั้น แต่ไม่สามารถป้องกันสะเก็ดหินหรือกิ่งไม้เหมือนการติดฟิล์มได้

8.เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน (Hazard Light) เมื่อข้ามแยกที่มีไม่สัญญาณไฟหรือไฟชำรุด ยังเป็นวิธีที่ใช้รถแบบผิดๆ ที่สืบทอดมาถึงยุคปัจจุบัน ทั้งที่ความจริง ถ้าคุณเปิดไฟฉุกเฉิน แน่นอนว่าฝั่งตรงข้ามหรือด้านท้ายคุณนั้นอาจมองเห็น แต่สำหรับรถในฝั่งซ้ายหรือขวา จะเห็นสัญญาณไฟเลี้ยวเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น รถทางขวาอาจจะจอดให้ไป แต่สำหรับทางซ้ายอาจคิดว่าคุณจะเลี้ยวซ้ายจึงไม่หยุด ส่งผลให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ด้วยความเข้าใจผิด ไฟฉุกเฉินควรใช้ในกรณีที่ด้านหน้าเกิดอุบัติเหตุ หรือรถจอดเสียกลางถนน

9.ฟิล์มยิ่งทึบยิ่งลดความร้อนในห้องโดยสาร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฟิล์ม 2 แบบ ประเภทแรกคือ ‘ฟิล์มย้อมสี’ เป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติช่วยลดแสงสว่างที่ผ่านเข้ามาทางกระจกเท่านั้น แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการลดความร้อน ซึ่งเมื่อมีการใช้งานไปสักระยะ ฟิล์มจะเกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง ซึ่งให้ทัศนวิสัยในการขับรถยนต์ที่ผิดเพี้ยนและเป็นอันตราย แต่หากฟิล์มกรองแสงทั่วไปผลิตมาจากโพลีเอสเตอร์คุณภาพสูง จะมีคุณสมบัติในการลดรังสีอุลตร้าไวโอเลตด้วย อีกประเภทคือ ‘ฟิล์มกรองแสงลดความร้อน’ เป็นฟิล์มกรองแสงที่มีคุณสมบัติในการลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางกระจกได้ดีกว่าแบบแรก โดยอาศัยคุณสมบัติของไอโลหะที่เคลือบบนฟิล์มในการกรองความร้อน และสะท้อนความร้อน ซึ่งมีผลให้ความร้อนผ่านเข้ามาทางกระจกได้น้อยลง

10.หงายมือสอดเข้าไปพวงมาลัยเวลายูเทิร์นจะช่วยให้ออกแรงน้อยลง เทคโนโลยีของรถยนต์พัฒนาไปมาก การเลี้ยวรถทำได้ง่ายดายโดยไม่ต้องออกแรงเยอะเพราะมีเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรง แถมเป็นวิธีการใช้รถที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เสี่ยงต่อการบาดเจ็บในกรณีหากล้อหน้าเกิดสะดุดก้อนหินหรือตกหลุม ก้านพวงมาลัยก็จะตีกลับมาตีข้อมือหากชักมืออกไม่ทัน การจับพวงมาลัยที่ถูกต้องมือทั้ง 2 ข้างควรจับในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา เมื่อคุณเลี้ยวซ้ายใช้มือขวาเป็นหลักหมุนพวงมาลัย ขณะเดียวกันมือซ้ายหมุนลงเมื่อมือซ้ายถึงตำแหน่งล่างสุดให้ปลอยมือซ้าย แต่มือขวายังจับอยู่และหมุนพวงมาลัยต่อลงมาจนถึงตำแหน่งล่างสุด พอถึงตอนคืนพวงมาลัยก็ควงมือขวากลับคืนตำแน่งเดิมล้อกลับมาตรง มือจะต้องไม่ย้ายออกจากตำแหน่งที่จับพวงมาลัย เวลาเลี้ยวขวาก็กลับกันใช้มือซ้ายควงมือขวาแค่ประคองส่งเวลาคืนก็ใช้มือซ้ายควงกลับตำแหน่งเดิม

ปัจจุบันยังมีคำแนะนำหรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวิธีการใช้รถหรือการดูแลรักษา ให้เราได้พบเห็นอยู่มากมาย ทางทีดีควรศึกษาหาข้อมูลหลายๆ ด้าน จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์กับรถคันโปรดของคุณ