Roojai

แบตเตอรี่เติมน้ำกลั่นกับไม่เติม ควรเลือกแบบไหน

เชื่อว่าบางคนที่ใช้รถเป็นประจำโดยเฉพาะมือใหม่หรือคุณผู้หญิงทั้งหลาย อาจจะไม่ค่อยมีเวลาศึกษาหาข้อมูลหรือทำความรู้จักกับอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถเท่าไหรนัก เพราะส่วนใหญ่ถึงเวลาก็มักจะนำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ตรวจเช็คหรือเปลี่ยนอะไหล่ตามที่ช่างบอก ซึ่งบางครั้งบางทีการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออะไหล่บางชิ้น ผู้เป็นเจ้าของก็สามารถซื้อหาได้เองในราคาที่คุ้มค่ากว่า เมื่อเทียบกับการสั่งซื้อจากศูนย์ โดยอะไหล่ที่เรียกว่าใกล้ตัวที่สุดและเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการขับใช้งานรถก็คือ ‘แบตเตอรี่’ และบางคนอาจยังไม่ทราบว่าแบตฯ รถตัวเองนั้นเป็นแบบใด แล้วมีกี่ประเภท วันนี้เราก็มีเกร็ดความรู้มาแนะนำกันครับ

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่า แบตเตอรี่รถยนต์คืออะไรมีไว้ทำไม อธิบายแบบเข้าใจง่าย แบตฯ มีทำหน้าป้อนกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องยนต์เพื่อให้ทำงานได้ เช่น มอเตอร์สตาร์ท ระบบจุดระเบิด ในขณะที่สตาร์ทรถยนต์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ป้อนพลังงานให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลาย ๆ อย่าง ด้วย เช่น ระบบไฟส่องสว่าง วิทยุ

อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่รถยนต์ ไม่ใช่แหล่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เป็นแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง เมื่อใดก็ตามที่ไดชาร์จ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทัน เช่น การขับขี่ในตอนกลางคืนซึ่งใช้ระบบไฟเยอะกว่าปกติ ก็ดึงเอาไฟจากแบตเตอรี่มาใช้ และถ้าไดชาร์จทำงานโดยหมุนเร็วขึ้น ก็จะมีกระแสไฟฟ้าเหลือจากการใช้งาน โดยจะถูกส่งกลับเข้าไปยังแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรอง (แบตเตอรี่) จนกว่าจะเต็มแบตเตอรี่ซึ่งจะถูกจ่ายไฟออกอย่างเดียวก็เฉพาะตอนสตาร์ทเครื่องยนต์เท่านั้น

ปัจจุบันแบตเตอรี่รถยนต์มีอยู่ด้วยกันหลัก ๆ 3 รูปแบบ

1. ประเภทธรรมดาหรือแบบน้ำ (CONVENTIONAL)

แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุที่ใช้จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับพลวง เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป โดยต้องหมั่นตรวจเช็คระดับน้ำกรดภายในแบตเตอรี่เป็นประจำ และต้องคอยเติมน้ำกลั่นชดเชยระดับที่ลดลงไปให้ได้ระดับที่เหมาะสม) เพื่อไม่ให้ระดับน้ำกรดต่ำกว่าเส้นบอกระดับล่าง (LOWER LEVEL) ปัจจุบันได้รับความนิยมลดลงในผู้ใช้รถยนต์บ้านทั่วไป เพราะต้องคอยดูแลบ่อยๆ แต่ก็ยังคงใช้กันเพราะเหมาะกับการใช้งานหนัก เช่น รถที่ใช้งานบรรทุกประจำ รถโดยสารต่าง ๆ เป็นต้น

2. ประเภทไฮบริดหรือกึ่งแห้ง (HYBRID)

แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุบวก (+) เหมือนประเภทธรรมดา แต่โครงสร้างแผ่นธาตุลบ (-) จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียม อายุการใช้งานเท่าๆ กับแบตเตอรี่ประเภทธรรมดา แต่แบตเตอรี่ประเภทนี้มีการสูญเสียน้ำน้อยกว่าประเภทธรรมดา จึงไม่ต้องกังวลกับการดูแลน้ำกรดมาก สามารถใช้ได้จนถึง 15,000 กม. แล้วค่อยเติมน้ำกลั่น ซึ่งสามารถเติมน้ำกลั่นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หลังจากใช้งานไปได้ประมาณ 5,000 กม. หรือ 10,000 กม.ได้ มีคุณสมบัติเหมาะใช้งานกับรถใช้งานหนัก รถใช้งานบรรทุก รถโดยสาร เช่นเดียวกับแบตเตอรี่ประเภทธรรมดา

3. ประเภทพร้อมใช้ไม่ต้องดูแลหรือแบบแห้ง (MAINTENANCE FREE)

แบตเตอรี่ประเภทนี้โครงสร้างแผ่นธาตุที่ใช้จะเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่วกับแคลเซียมทั้งแผ่นธาตุบวก (+) และแผ่นธาตุลบ (-) มีคุณสมบัติดีกว่าประเภทไฮบริด(HYBRID) คือไม่ต้องดูแลน้ำกรดไม่ต้องเติมน้ำกลั่นตลอดอายุการใช้งาน (แต่ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน อากาศค่อนข้างร้อนจัดตลอดปี จึงเป็นการดีที่จะดูแลเติมน้ำกลั่นประมาณ 5-6 เดือนครั้ง เพราะในสภาพอากาศที่ร้อนแบบเมืองไทย ระดับน้ำกรดอาจลดลงได้) แต่แบตเตอรี่ประเภทนี้ก็มีข้อด้วยกว่าในเรื่องความทนทานในการใช้งานหนัก เมื่อต้องจ่ายกระแสไฟมาก (DEEP DYCLE-HEAVY DUTY) จึงไม่เหมาะกับรถใช้งานบรรทุก รถโดยสาร รถรับจ้าง แต่เหมาะกับรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป

แล้วรู้หรือยัง ว่าประกันภัยรถยนต์ออนไลน์ Roojai.com มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. รวมทั้งบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ถึงที่ให้ด้วย ดูรายละเอียดได้ที่นี่เลย