
เม็ดเลือดขาวมีบทบาทสำคัญในการป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ หากระดับเม็ดเลือดขาวต่ำเกินไป ร่างกายจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่อันตรายหรือโรคร้ายแรงได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้รู้ใจจะมาพูดถึงอันตรายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ มันส่งผลอะไรบ้างต่อร่างกาย และวิธีรักษา เพื่อจะได้รู้ถึงภัยเงียบที่แอบซ่อนอยู่ในร่างกายของเรา
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- เม็ดเลือดขาวคืออะไร?
- ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำคืออะไร?
- สาเหตุอาการของการเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมั้ย?
- วิธีรักษาภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมีอะไรบ้าง?
- วิธีทำให้เม็ดเลือดขาวอยู่ในภาวะปกติ?
เม็ดเลือดขาวคืออะไร?
เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells หรือ WBC) เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ โดยทำหน้าที่หลักในการต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราต่าง ๆ เม็ดเลือดขาวผลิตจากไขกระดูก และถูกส่งไปยังกระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ
ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำคืออะไร?
โดยปกติเราทุกคนจะมีเม็ดเลือดขาวทั้งหมดทุกชนิดรวมกัน อยู่ที่ประมาณ 4,500-10,000 เซลล์ต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร โดยภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) คือ ภาวะที่ค่าเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น อาการที่พบได้บ่อยในภาวะนี้ ได้แก่ ไข้ที่เกิดขึ้นบ่อย การติดเชื้อที่ไม่หายขาด ผื่นบนผิวหนัง อ่อนเพลีย และปวดตามร่างกาย
อาการและสาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
พญ.หรรษมน โพธิ์ผ่าน ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พูดถึงเรื่องเม็ดเลือดในร่างกายเอาไว้ว่า เม็ดเลือดในร่างกายของคนเรานั้น ประกอบไปด้วยเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาว โดยเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ หากเม็ดเลือดขาวต่ำอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย สาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง ในขณะที่การติดเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะทำให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
- การได้รับยา สารเคมี หรือรังสีบางชนิด
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งอื่น ๆ ที่แพร่กระจายในไขกระดูก
- โรคไขกระดูกฝ่อ ทั้งชนิดแต่กำเนิดและที่เกิดขึ้นภายหลัง
- ความผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดขาวตั้งแต่กำเนิด
- การขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบี 12 โฟลิก
สำหรับอาการเม็ดเลือดขาวต่ำนั้น มักไม่แสดงอาการ จะทราบได้จากการที่ต้องไปตรวจเจาะเม็ดเลือด หรือจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีโรคที่เป็นเหตุ หรือมีอาการจากการติดเชื้อที่ตามมาจากการที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ เช่น มีไข้, คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้าม ไต ในโรคมะเร็งเม็ดเลือด, ผื่นแพ้แสง ปวดข้อ ในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (ที่มา: thaihealth.or.th)
Tips : เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมั้ย?
คำตอบคือ เม็ดเลือดขาวต่ำไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคเกี่ยวกับไขกระดูก อย่ารอจนกว่าจะมีอาการหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เราก็สามารถรักษาสุขภาพเราให้ดีได้เริ่มตั้งแต่วันนี้ และเริ่มทำประกันโรคร้ายได้เลยเช่นกัน เพื่ออุดรอยรั่วความเสี่ยง พร้อมรับมือโรคร้ายได้
วิธีรักษาภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำมีอะไรบ้าง?
การรักษาภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ซึ่งวิธีการรักษามีหลากหลายแนวทาง ดังนี้
- การรักษาต้นเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ หากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเกิดจากโรคเฉพาะ เช่น การติดเชื้อไวรัส หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แพทย์จะรักษาโรคต้นเหตุเพื่อฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ
- หยุดหรือปรับการใช้ยา เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำลงได้ แพทย์อาจพิจารณาปรับลดขนาดยา หรือลดความถี่ในการใช้ยาเพื่อช่วยเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว
- การใช้ยากระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาว สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากการรักษามะเร็ง หรือจากปัญหาในไขกระดูก แพทย์อาจใช้ยากระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาว เช่น G-CSF (Granulocyte Colony-Stimulating Factor) เพื่อช่วยให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
- การรับประทานวิตามินและสารอาหารเสริม วิตามินและสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี12 และโฟเลต มีบทบาทสำคัญในการผลิตเม็ดเลือดขาว หากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำเกิดจากการขาดสารอาหารเหล่านี้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามินเสริม หรือปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้เหมาะสม
- การถ่ายเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรงหรือเกิดจากปัญหาในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการถ่ายเลือดอาจเป็นวิธีรักษาที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ผู้ที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อโรค โดยการรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- การดูแลสุขภาพทั่วไป การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีทำให้เม็ดเลือดขาวอยู่ในภาวะปกติ?
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด และโปรตีนที่ดี เช่น ปลา ไก่ และถั่ว รวมถึงอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้การทำงานของระบบเลือดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูระบบต่าง ๆ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ควรนอนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
สารเคมีบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีในอุตสาหกรรม อาจส่งผลกระทบต่อไขกระดูกและทำให้การผลิตเม็ดเลือดขาวลดลง
5. ลดความเครียด
ความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง การทำกิจกรรมผ่อนคลายหรือทำสมาธิช่วยลดความเครียดได้
6. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพและตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอช่วยให้ทราบสถานะของเม็ดเลือดขาวและตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว
เม็ดเลือดขาวมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อและรักษาสุขภาพร่างกาย หากมีจำนวนที่สูงหรือต่ำเกินไป อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ต้องระวัง การรักษาระดับเม็ดเลือดขาวให้อยู่ในภาวะปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ปลูกถ่ายไขกระดูก | เป็นการทดแทนเซลล์ที่ไม่แข็งแรง หรือเซลล์ที่มีความผิดปกติในไขกระดูกด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ |
ระบบภูมิคุ้มกัน | ระบบในร่างกายที่ทำหน้าที่ป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และปรสิต รวมถึงสารแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย |