Roojai

รู้จัก “โนโรไวรัส” คืออะไร? ไวรัสร้ายสาเหตุเด็กท้องเสียหนัก

โนโรไวรัส ไวรัสร้ายสาเหตุเด็กท้องเสีย | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

การระบาดของอาการท้องเสียที่มีมากในเด็กที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าหนาว อาจไม่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากไวรัส โดยไวรัสตัวนี้มีชื่อว่า โนโรไวรัส ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไวรัสลงกระเพาะและเป็นอันตรายกับเด็กโดยตรง หากเด็กคนไหนที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้ไป อาการจะคล้าย ๆ คนเป็นไข้ ไม่ว่าผู้ใหญ่ เด็กท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง และหากเด็กคนไหนที่ภูมิต้านทานต่ำอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย ก่อนจะไปทำความรู้จักกับ โนโรไวรัส เราไปดูกันก่อนว่า โรคไวรัสลงกระเพาะ คืออะไร มีเชื้อไวรัสตัวไหนบ้างที่ทำให้เกิดโรค รู้ทันป้องกันก่อนเป็น

โนโรไวรัส คืออะไร?

โนโรไวรัส (Norovirus) หรือที่เรียกว่า “Stomach Flu” โรคหวัดลงกระเพาะ คือ ไวรัสที่ทำให้เกิดจากการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แม้ร่างกายจะได้รับเชื้อไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม พวกมันทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ดี หากมีการปนเปื้อนของไวรัสตัวนี้ในอาหารหรือน้ำดื่ม จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และยังติดต่อกันได้ง่ายตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็น สามารถทำให้เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับประเทศไทย มีการตรวจพบการระบาดชัดเจนในปี พ.ศ. 2555 ต่อเนื่องมาทุกปี โดยจะมีการระบาดสูงในช่วงหน้าหนาว

โนโรไวรัส ต้นเหตุโรคไวรัสลงกระเพาะ

โรคไวรัสลงกระเพาะ หรือ Viral Gastroenteritis คือ ภาวะการติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถหายได้เอง แต่หากเป็นเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงอาจเกิดลําไส้อักเสบ อาการเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาการของแต่ละช่วงวัยก็จะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป

สำหรับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมี 3 ชนิด 
  1. Adenovirus – เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร มักเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี อาการแรกเริ่ม คือ เด็กท้องเสีย อ้วก หลังได้รับเชื้อ 8-10 วัน และจะป่วยนาน 5-12 วัน
  2. Rotavirus – เป็นเชื้อไวรัสที่พบได้ในระบบทางเดินอาหาร มักเกิดในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะทารก 3-15 เดือน ที่ชอบเอามือเข้าปาก หรือเลียสิ่งของ อาการจะปรากฏหลังได้รับเชื้อ 1-3 วัน และจะป่วยนานประมาณ 3-7 วัน ในผู้ใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่สู่เด็ก ๆ ได้
  3. Norovirus – เป็นสาเหตุกว่า 18% ของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อที่พบทั่วโลก สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ยิ่งบ้านไหนอาศัยอยู่รวมกันหลายคนด้วยแล้ว หรือที่ชุมชน เช่น โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักคนชรา ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อกันง่ายมาก มีระยะฟักตัวสั้นราว 12-48 ชั่วโมงหลายคนจึงอาจเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของอาหารเป็นพิษ โดยจะป่วยนาน 1-3 วัน 

จากไวรัสทั้งหมดที่ทำให้เกิดไวรัสลงกระเพาะ ทำให้ถ่ายเหลว ท้องเสีย เป็นไข้ ตัวร้อน วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงตัวโนโรไวรัส อาการในแต่ละช่วงวัยจะเป็นยังไง การแพร่เชื้อที่รวดเร็ว และการป้องกันเพื่อความปลอดภัยของลูกตัวน้อยที่คุณรัก

โรคไวรัสลงกระเพาะจากเชื้อโนโรไวรัส | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

การติดเชื้อโนโรไวรัสอาการเป็นยังไง?

  • ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
  • มีอาการปวดท้อง
  • มีอาการคลื่นไส้
  • อ้วกหรืออาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • อาการไข้ต่ำๆ
  • เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวตามร่างกาย
  • มีอาการอ่อนเพลีย

รู้หรือไม่? ติดเชื้อโนโรไวรัสไม่มียารักษาเจาะจงและไม่มีวัคซีน

เมื่อเป็นโรคไวรัสลงกระเพาะจากการติดเชื้อโนโรไวรัส ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เจาะจงในการกำจัดไวรัสตัวนี้ แต่รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ให้เกลือแร่หรือน้ำเกลือหากท้องเสียและมีอาการขาดน้ำ หรือให้ยาแก้อาเจียน และส่วนใหญ่มักจะหายได้ใน 3-4 วัน นอกจากนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส สิ่งที่ทำได้คือต้องดูแลตัวเองและลูกน้อยตามวิธีป้องกันที่แนะนำด้านล่าง

วิธีการตรวจรักษา

สำหรับวิธีตรวจวินิจฉัยโรคหวัดลงกระเพาะ สามารถทำได้ด้วยการเก็บตัวอย่างอุจจาระ ส่งเข้าแล็บตรวจพิเศษในห้องปฏิบัติการ หากพบว่ามีการติดเชื้อไวรัส แพทย์จะทำการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น หากเด็กสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว มีภูมิต้านทาน ก็จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน ในเด็กหากมีอาการขาดน้ำ ให้ทดแทนด้วยการดื่มเกลือแร่หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ในช่วงรักษาตัว พร้อมกับให้ยาเเก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้อง แต่หากเด็กมีภูมิต้านทานต่ำ มีอาการของโรครุนแรง ถ่ายเหลวตลอดเวลา ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพราะเด็กอาการเกิดอาการช็อก ความดันต่ำ และอาจเสียชีวิตได้

โนโรไวรัสติดต่อหรือไม่ อย่างไร?

การแพร่ระบาดของโนโรไวรัส สามารถติดต่อกันง่ายมาก ด้วยพฤติกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
  • จากการรับประทานอาหาร หรือน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งสามารถตรวจพบได้บ่อยตามน้ำแข็ง ผัก ผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น 
  • เด็ก ๆ มักจับสิ่งของแล้วเอามือเข้าปาก โดยที่ไม่ได้ทำความสะอาดก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ไวรัสเข้าสู่ร่างกาย

นอกจากเด็กจะเสี่ยงติดเชื้อโนโรไวรัสที่ทำให้ท้องเสีย หรือติดเชื้ออื่น ๆ ก็ตาม เด็กยังเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าอุบัติเหตุเล็กน้อยหรืออุบัติเหตุใหญ่ ที่รู้ใจมีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลคุ้มครองเด็กตั้งแต่อายุ 1 ขวบเป็นต้นไป อุบัติเหตุอาจป้องกันไม่ได้ทั้งหมด แต่วางใจค่ารักษาพยาบาลได้ อุ่นใจให้รู้ใจดูแลได้เลย

มีวิธีป้องกันเชื้อโนโรไวรัสยังไง?

แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโนโรไวรัสออกมาก็ตาม แต่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ สามารถดูแลบุตรหลาน หรือนักเรียนของตัวเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ 

  1. ล้างมือให้สะอาด ก่อนทำอาหารหรือก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง และหลังการเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก 
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อโนโรไวรัสสามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้นาน โดยเฉพาะในน้ำ
  3. สำหรับผลไม้ ผักสด จำเป็นต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนการนำมาปรุงอาหาร
  4. หอยนางรมหรือหอยชนิดอื่น ๆ ทำให้สุกทุกครั้งก่อนกิน
  5. เก็บทิ้งสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เศษอาเจียน ทิ้งอย่างระมัดระวัง โดยก่อนการจับทิ้ง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ซับไปที่เศษอาเจียน เพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส และหยิบทิ้งลงในถุงพลาสติก พร้อมปิดถุงให้สนิท
  6. ผ้าอ้อมเด็ก หรือเสื้อผ้าเด็กที่ปนเปื้อนอุจจาระ ควรแยกออกเสื้อผ้าของคนปกติ และให้รีบซักทำความสะอาด หรือเก็บใส่ถุงทิ้งอย่างเหมาะสม 
  7. ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน
  8. ผู้ป่วยควรงดการทำอาหาร เพราะอาจแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้ 
  9. หากเป็นเด็กเล็ก ควรให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ
  10. ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ควรเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ

โรคไวรัสลงกระเพาะอาจเกิดการสับสนและคิดว่าเป็นโรคอาหารเป็นพิษ ไวรัสนี้เกิดขึ้นได้ในเด็กและผู้ใหญ่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้เลย ซึ่งเราควรรู้ทันและป้องกันไว้ก่อน หลัก ๆ คือการดูแลสุขลักษณะของลูก กินร้อนช้อนกลางล้างมือ รวมไปถึงข้อป้องกันข้างต้น นอกจากจะช่วยให้หลีกเลี่ยงเชื้อโนโรไวรัสแล้ว ยังช่วยหลีกเลี่ยงการติดเชื้ออื่น ๆ อีกด้วย และที่สำคัญคือเมื่อเกิดอาการขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธี

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ:

ไวรัส เชื้อโรคขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ไวรัสสามารถก่อโรคในสิ่งมีชีวิตได้ทุกชนิด ไม่ว่าคน พืช สัตว์ และไวรัสบางตัวยังก่อให้เกิดการะบาดในวงกว้างอีกด้วย
อาการเฉียบพลัน คือ อาการที่มักจะเกิดขึ้นทันทีหรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการรักษาอาจหายใน 2-3 สัปดาห์หรือเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ
วัคซีน สารที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการติดต่อและลดความรุนแรงของโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งวัคซีนผลิตจากเชื้อโรคที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เช่น เชื้อโรคที่ตายหรืออ่อนฤทธิ์แล้ว
การระบาด การเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรค ในสถานที่และช่วงเวลานั้น ๆ อาจเกิดขึ้นในกลุ่มคนไม่กี่คน หลายพันคน ทั่วทวีป หรือทั่วโลกก็ได้