Roojai

ไฟระบบเครื่องยนต์เตือน เกิดจากอะไรบ้าง?

เชื่อว่าหลายคนที่ใช้รถอยู่เป็นประจำ อาจเคยสังเกตเห็นไฟรูปเครื่องยนต์ขึ้นโชว์บนหน้าปัดหรือเรือนไมล์ เวลาที่เสียบกุญแจแล้วบิดสวิตช์ไปตำแหน่ง ON และเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ติดแล้วไฟ Check Engine ก็จะหายไป ซึ่งการเกิดรูปแบบลักษณะดังกล่าวนี้ถือว่าการทำงานของระบบต่างๆ นั้นปกติ

แต่ในทางกลับกันเมื่อสตาร์ทแล้วและเครื่องยนต์ติดอยู่ แต่ไฟ Check Engine ไม่ได้ดับลง นั่นแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น (Fault) ซึ่งไฟ Check Engine จะขึ้นเพื่อเตือนให้เรานำรถเข้าตรวจเช็ค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เกิดปัญหาใหญ่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ฉะนั้นไม่ต้องกังวลหรือตกใจจนต้องโทรตามช่างหรือเรียกรถสไลด์ด่วนในทันทีทันใด แต่ขึ้นเพื่อให้เรานำรถเข้ารับการตรวจเช็คโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะบางทีหากเราไม่สนใจทำอะไรเลยก็อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายหนักๆ ได้ตามมาภายหลัง

การที่ไฟ Check Engine ขึ้นโชว์เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่หลักๆ มาจาก 4 ปัจจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของเครื่องยนต์ คือ ระบบการฉีดน้ำมัน (Injection System) ประกอบด้วยระบบจ่ายน้ำมันและระบบหัวฉีด, ระบบจุดระเบิด (Ignition System) ซึ่งประกอบด้วย คอยล์ หัวเทียน และ Sensors ต่างๆ ถ้าเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ระบบจุดระเบิดจะแตกต่างกับเครื่องเบนซิน, ระบบอัดอากาศและระบบ Vacuum ซึ่งประกอบด้วยท่ออากาศและท่อ Vacuum (สูญญากาศ) ต่างๆ และระบบควบคุมไอเสีย (Exhaust Emission System) ซึ่งประกอบด้วยระบบ EGR (Exhaust Gas Recirculation System) และ Sensors วัดปริมาณไอเสียหรือ ที่เรียกว่า Oxygen Sensor นอกจากสาเหตุหลักที่กล่าวมาข้างต้น สาเหตุอื่นๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง ซึ่งเราได้หยิบยกมาเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบในครั้งนี้ด้วย ก็คือสิ่งผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากการเสียของอุปกรณ์ใดๆ เช่น เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ มักพบบ่อยมากในกรณีเติมน้ำมันไม่ได้ค่า Octane ตามที่เครื่องยนต์ต้องการ หรือในรถรุ่นใหม่ๆ จะมีความไวต่อการตรวจสอบอย่างยิ่ง แค่ปิดฝาถังน้ำมันไม่สนิท ไฟ Check Engine ก็ขึ้นโชว์ได้เช่นกัน กรณีเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อลบไฟ Check Engine นี้ได้ หรือบางครั้งไฟก็ดับไปเอง

บางกรณีหากคุณพอมีความรู้ด้านฝีมือช่างหรือสนใจในการปรับแต่งอยู่บ้าง ก็สามารถแก้ไขปัญหา Check Engine ได้ด้วยตัวเอง หากว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากการชำรุดเสียจากเครื่องยนต์แบบหนักหน่วงหรือจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ โดยเบื้องต้นตามคู่มือตรวจเช็คประจำวัน ดูระดับน้ำมันของเหลวต่างๆ เช็คดูว่ามีร่องรอยรั่วไหลให้เห็นชัดเจนหรือไม่ รวมทั้งดูการทำงานของพัดลม หรือสายพานมีเสียงดังผิดไปจากปกติหรือเปล่า ถ้าไม่มีให้ลองถอดขั้วลบแบตเตอรี่ออกสัก 10-15 วินาที แล้วค่อยต่อเข้าไปใหม่ บางทีอาจไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือหากถึงขั้นแอดว้านซ์หน่อย เพียงคุณนำอุปกรณ์ที่เรียกว่า OBD II  มาเสียบต่อกับพอร์ทของรถ (ส่วนใหญ่อยู่ใต้คอพวงมาลัย) จากนั้นเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนซึ่งมี App รองรับ เพื่อดูข้อมูลรหัสความผิดที่ ECU รถยนต์ได้ตรวจพบและบันทึกเก็บไว้ โดยเราจะสามารถนำค่านี้ไปค้นหาความผิดพลาดต่างๆ ของเครื่องยนต์ได้ เช่น อาจพบว่ามีสายไฟบางตัวขาด หรือฟิวส์ขาด ซึ่งในจุดนี้เราก็สามารถทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเองได้ นอกจากนี้ OBD II ยังลบ Code ที่ Error ช่วยให้ไฟ Check Engine ดับลงได้อีกด้วย

ถ้าลองทั้งหมดแล้วยังไม่หาย ทางแก้ไขที่ดีที่สุด คือ นำรถเข้าศูนย์บริการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุอย่างละเอียดครับ ที่สำคัญเพื่อให้ทุกการขับขี่ของคุณอุ่นใจและปลอดภัย อย่าลืมให้ Roojai.com เคียงข้างคุณ ด้วยประกันแสนดี การันตีความคุ้มครองสูงสุด ในราคาดีที่สุด