Roojai

แพ้กัญชา! อันตรายแฝงในอาหาร อาการแบบไหนรุนแรง ต้องรีบพบแพทย์

อาการเมากัญชา | แพ้กัญชา | กัญชา | กัญชารักษาโรค | รู้ใจ

หลังจากมีการปลดล็อกพืชกัญชาให้พ้นจากบัญชียาเสพติด โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาเอาไว้ใช้เอง รวมทั้งผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ใช้เชิงพาณิชย์ หรือทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการบางกลุ่มที่นำกัญชาไปแปรรูปเป็นขนมหรืออาหาร และจำหน่ายให้เด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี หรือจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น โดยไม่แนะนำวิธีการใช้ จึงทำให้เราเห็นหลาย ๆ ข่าว มีการนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เนื่องจากบริโภคอาหารเหล่านี้เข้าไป และเกิดอาการเมา หรือแพ้กัญชา วันนี้รู้ใจรวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับกัญชาทั้งประโยชน์ของกัญชา โทษของกัญชา รวมถึงวิธีสังเกตอาการเมาหรือมีอาการแพ้กัญชา และวิธีแก้ มาฝากกัน

กัญชาในภาษาไทย สันนิษฐานกันว่าเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากคำว่า Genja ของภาษาฮินดี พบว่า มีกัญชาปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มายาวนานนับพันปี โดยในสมัยก่อนนิยมปลูกกันในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรค อาหาร และเครื่องเทศ กัญชามีฤทธิ์ต่อประสาท ทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลาย พบมากในแถบทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเปอร์เชีย อินเดีย และจีน ก่อนที่จะกระจายไปแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สารประกอบสำคัญในกัญชามีอะไรบ้าง?

ในกัญชามีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ หรือ Cannabinoid อยู่ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC

1. CBD (Cannabidiol)

เป็นสารสกัดที่ได้จากต้นกัญชา เป็นสารที่มีประโยชน์ที่สามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยในบางโรคได้ สามารถนำมาพัฒนาเป็นยาและใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยมีประโยชน์ ดังนี้

  • ช่วยลดความวิตกกังวล
  • ลดอาการปวด
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดี
  • ไม่ส่งผลต่อจิตประสาท
  • ไม่ก่อให้เกิดการเสพติด
กัญชาทางการแพทย์ | แพ้กัญชา | รู้ใจ

2. THC (Tetrahydrocannabinol)

เป็นสารที่ส่งผลต่อจิตประสาททำให้เกิดความผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการตึงเครียดได้ THC จัดว่าเป็นสารที่ทำให้เมา โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับมากเกินไปจะก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์

  • ใจสั่น
  • ความดันเปลี่ยนอย่างรุนแรง
  • สติแปรปรวน
  • ประสาทหลอนหรือเห็นภาพหลอน 
  • หูแว่ว 
  • หวาดระแวง และแพนิค
  • ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • ส่งผลกระทบต่อสมอง โดยเฉพาะในคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี โดยส่งผลทางด้านความจำ
  • ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวช จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการประสาทหลอนถาวรสูงถึง 20%

กินกัญชายังไงให้มีประโยชน์?

สำหรับการนำกัญชามาใช้ในการทำอาหาร เครื่องดื่ม ขนม กรมอนามัยได้แนะนำปริมาณที่เหมาะสมไว้ดังนี้

  • อาหารประเภททอด – ให้ใช้ใบกัญชาสด 1 – 2 ใบ เช่น ทำไข่เจียวแนะนำให้ใส่ไม่เกินครึ่งใบถึงหนึ่งใบ เนื่องจากสาร THC และ CBD สามารถละลายได้ดีในน้ำมัน
  • อาหารประเภทผัด – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
  • อาหารประเภทแกง – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
  • อาหารประเภทต้ม – สามารถใช้ได้ 1 ใบสด
  • เครื่องดื่ม – เครื่องดื่มขนาด 200 มิลลิลิตร สามารถใช้ได้ 1 ใบสด

ประโยชน์ของกัญชามีอะไรบ้าง?

1. ช่วยให้ผ่อนคลาย

กัญชาจะช่วยให้อารมณ์ดี นั่นเพราะสาร THC ที่เป็นสารที่ออกฤทธิ์ให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และยังมีสรรพคุณทำให้นอนหลับสบายและนานขึ้น โดยทั่วไปนิยมใช้เพื่อบรรเทาความเครียด

2. ช่วยให้เจริญอาหาร

สาร THC ยังช่วยให้เจริญอาหาร โดยมักจะนำ THC ไปใช้ผสมกับสาร Dronabinol เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอยากอาหาร นิยมใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดและในผู้ป่วยเอดส์ 

3. ช่วยต้านอาการซึมเศร้า

ในกัญชามีสาร Cannabinoids ที่ออกฤทธิ์ช่วยในการปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยต้านอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าในผู้สูงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมน และยังช่วยลดความกระวนกระวายใจให้ลดน้อยลง ช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวทางอารมณ์ได้มากขึ้น หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

4. ช่วยคลายกล้ามเนื้อ

ทั้งสาร THC และ CBD นั้นมีส่วนช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ ทั้งผ่อนคลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน ลดอาการอักเสบ 

ใครบ้างที่ต้องระวังกัญชา?

สำหรับกลุ่มคนที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ และคุณแม่ที่ให้นมบุตรเพราะจะส่งผลต่อทารกในครรภ์โดยผ่านทางการให้น้ำนม สำหรับในเด็กและเยาวชนมีโอกาสในการเสพติดกัญชา อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านสมองของเด็ก

อาการแพ้กัญชา | กัญชา | เมากัญชา | รู้ใจ

วิธีสังเกตอาการแพ้หรือเมากัญชา

จริงอยู่ที่ว่าในกัญชามีสรรพคุณที่มีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคได้มากมาย แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดโทษได้ เพราะในกัญชามีสาร THC ที่ออกฤิทธ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อสมองและร่างกายทางด้านอารมณ์และจิตใจ ผู้ที่เพิ่งจะเริ่มทดลองบริโภคควรเริ่มบริโภคแค่ครึ่งใบถึงหนึ่งใบต่อวัน

การตอบสนองทางร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เราควรสังเกตอาการของตัวเองทุกครั้งที่ใช้ อาการปกติที่พบได้ในผู้ใช้กัญชา เช่น คอแห้ง ง่วงนอน  ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติที่พบได้ แต่อาการที่ไม่ปกติ อย่างอาการแพ้กัญชา ควรรีบไปพบแพทย์

อาการผิดปกติจากการกินกัญชา

หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าคุณมีอาการแพ้กัญชาหรือเมากัญชา ควรไปพบแพทย์

  1. หัวใจเต้นเร็วและรัวจนผิดจังหวะ
  2. เป็นลมหรือหมดสติ
  3. เจ็บหน้าอก ร้าวไปที่แขน
  4. เหงื่อออก ตัวสั่น
  5. หายใจลำบาก อึดอัด
  6. เดินเซ 
  7. พูดไม่ชัด 
  8. สับสน 
  9. กระวนกระวาย วิตกกังวล หวาดแระแวง
  10. หูแว่ว เห็นภาพหลอน พูดคนเดียว 

หรือสามารถใช้วิธีแก้อาการเมากัญชาเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้ 

  1. ให้ดื่มน้ำเพื่อลดอาการคอแห้ง ปากแห้ง
  2. ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือเล็กน้อย
  3. เคี้ยวเม็ดพริกไทย
  4. หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน ให้ดื่มน้ำขิง

แม้ว่าประโยชน์ของกัญชาจะมีอยู่มากก็ตาม แต่ก็มีข้อเสียของกัญชาอยู่เช่นกัน การจะนำไปใช้ผู้ใช้ควรศึกษาถึงผลกระทบก่อน หรือควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดหรือเลี่ยงอาการแพ้กัญชาที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของเรา

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)