Roojai

เจ็บแต่ไม่จบ! รวม 7 โรคแทรกซ้อนที่เสี่ยงเป็นเพราะเบาหวาน

โรคเบาหวาน | โรคแทรกซ้อน | เบาหวานขึ้นตา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

โรคเบาหวานนับว่าเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยอีกหนึ่งโรค ผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคเบาหวานมักจะมีภาวะแทรกซ้อนจากระดับน้ำตาลในเลือด บทความนี้ รู้ใจจะมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับคนที่เป็นเบาหวานหรือคนที่มีคนใกล้ชิดเป็นเบาหวาน เพื่อที่จะสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนร้ายแรงอื่น ๆ เพราะหากไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้เกิดโรคร้ายแรงอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคเบาหวานไม่ได้เป็นปัญหาสุขภาพแค่คนไทยเท่านั้น กรมควบคุมโรคเปิดเผยตัวเลขของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั่วโลก ในปี 2564 มีอยู่ราว 537 ล้านคน และมีคนเสียชีวิต 6.7 ล้านคนจากโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อน หรือในทุก ๆ 5 วินาที จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเสียชีวิต 1 ราย วันนี้รู้ใจได้รวบรวมข้อมูลที่มีประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านมาไว้ที่บทความนี้ หากรู้ก่อน เราจะได้ป้องกันได้อย่างถูกวิธี 

ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยโรคเบาหวานคือมักจะมีภาวะโรคร้ายแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสายตา ไตวาย โรคหัวใจ อัมพาต แผลเน่า ฯลฯ โดยความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้น จะแสดงอาการรุนแรงแตกต่างออกไปตามสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน และขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ป่วยนั้นเป็นเบาหวาน การคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับของคนปกติจึงมีความสำคัญมาก ๆ ของผู้ป่วยเบาหวาน เพราะมันจะช่วยชะลอและลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน 

โรคแทรกซ้อนอะไรบ้างที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องรู้

โรคแทรกซ้อนมักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเบาหวานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ภาวะแทรกซ้อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

  1. ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก 
    • ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา
    • ภาวะแทรกซ้อนที่ไต
    • ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังที่เส้นประสาท
  2. ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ ได้แก่
    • โรคหลอดเลือดหัวใจ
    • โรคหลอดเลือดแดง
    • โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยส่งให้เกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
เบาหวาน | โรคแทรกซ้อน | อัมพฤกษ์ | อัมพาต | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

1. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท

ภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาทจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่ปลายเท้า ด้วยเหตุนี้เองทำให้บริเวณเท้าของผู้ป่วยเบาหวานมักจะเกิดแผล โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องถูกตัดนิ้วหรือตัดขาบางส่วน ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาทได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือด ภาวะความดันโลหิตสูง และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

อาการภาวะแทรกซ้อนที่เส้นประสาท

  • ชาที่ปลายมือและปลายเท้าทั้งสองข้าง 
  • ในบางรายอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนคล้ายของมีคมทิ่มแทง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณแขนและขา

โดยอาการเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นในตอนกลางคืน

2. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเบาหวานขึ้นตา

หรือภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา เป็นภาวะของโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน ส่งผลให้หลอดเลือดในจอประสาทตาเริ่มอักเสบ โป่งพอง มีเลือด และมีน้ำเหลืองซึมออกมาทั่วจอประสาทตา อาการจะค่อย ๆ เริ่มเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สังเกตจึงละเลยที่จะตรวจสุขภาพตาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหากอาการหนักขึ้นอาจส่งผลให้ตาเกิดการพร่ามัว และถ้าหลอดเลือดและพังผืดเกิดที่เกิดขึ้นใหม่ยังมีผนังไม่เเข็งแรง ทำให้ฉีกขาดได้ง่ายจะเป็นตัวยึดดึงจอประสาทตาให้หลุดลอกออกมาและทำให้ผู้ป่วยตาบอดสนิทได้

อาการภาวะแทรกซ้อนที่ตา

  • สายตาพร่ามัวลง 
  • ผู้ป่วยจะเห็นเงาดำบังตลอดเวลาที่จ้องมองสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา
  • ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อตาส่วนที่ควบคุมโดยเส้นประสาทสมองทำงานผิดปกติ

3. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงไตวายเรื้องรัง

หรือภาวะไตวายแทรกซ้อน ซึ่งโรคเบาหวานเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน มีโอกาสประมาณ 20 – 40% เนื่องจากไตมีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการควบคุมระดับความดันโลหิต 

ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตวายแทรกซ้อน การทำงานของไตจะเสื่อมลงทำให้โปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะของผู้ป่วยที่เป็นมานานกว่า 10 ปี แต่ความรุนแรงและระยะการเกิดจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด 

อาการภาวะแทรกซ้อนที่ไต

  • ในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ แต่จะตรวจพบโปรตีนอัลบูมินทางปัสสาวะ
  • หลังจากที่โปรตีนรั่วออกมามากขึ้น ปัสสาวะจะเป็นฟอง 
  • ความดันโลหิตสูง 
  • หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง อาจต้องฟอกเลือดหรือล้างไต
เบาหวาน | โรคแทรกซ้อน | ไตวาย | โรคหลอดเลือดสมอง | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

4. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงโรคแทรกซ้อนจากหลอดเลือดใหญ่

ในผู้ป่วยเบาหวาน จะมีภาวะตีบตันของหลอดเลือดใหญ่ เช่น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ สมอง ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ หรือเกิดการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดน่อง หากหลอดเลือดมีการอุดตัน จะทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อทำให้ต้องตัดขา และยังพบเรื่องความดันโลหิตสูงร่วมด้วย โดยเฉพาะความดันโลหิตสูงชนิดซิสโตลิก

5. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

ในผู้ป่วยเบาหวานร้อยละ 18.7 จะมีภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และมีภาวะโรคหลอดเลือดสมอง 4.4% และโรคหลอดเลือดหัวใจ 8.1% มีความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหวลวสูงกว่าคนทั่วไป 1.5 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าเกือบ 2 เท่า

6. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง – อัมพฤกษ์ อัมพาต

ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะเส้นเลือดตีบ โดยมีอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี จะมีความเสี่ยงสูงถึง 3 เท่า  ส่วนปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ ความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดผิดปกติ และอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย

7. ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเกี่ยวกับประสาทตา และโรคทางสมอง โดยผู้ป่วยเบาหวานนอกจากต้องควบคุมระดับน้ำตาลแล้ว ยังต้องควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย หากผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดน้ำหนัก เพื่อช่วยให้ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลอยู่ในภาวะปกติ

และทั้งหมดนี้ เป็นโรคร้ายที่แฝงมากับโรคเบาหวาน ส่งผลต่อชีวิตประจำวันและส่งผลต่อคนรอบข้างในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล นอกจากที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูแลเรื่องระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมน้ำหนัก พบแพทย์เป็นประจำ และออกกำลังกายแล้ว หากมีตัวช่วยที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน อย่างประกันโรคร้ายแรงด้วยแล้ว จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ และยังสามารถเลือกรับการรักษาได้หลากหลายจากวงเงินประกันที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)