Roojai

รับมือยังไง ถ้าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง การเตรียมพร้อมสำคัญมาก

รับมือยังไง ถ้าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็ง

ไม่ว่าจะโรคอะไรก็แล้วแต่ เรามักจะไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเราและครอบครัวของเรา ยิ่งพอเป็นเรื่องของโรคมะเร็งด้วยแล้ว พอใครได้ยินหรือได้ฟังคำนี้มักจะสติแตกกันไปตาม ๆ กัน เรามาศึกษาวิธีเตรียมตัวรับมือเมื่อครอบครัว หรือคนที่เรารักเป็นโรคมะเร็งกันว่ามีวิธีปฏิบัติกับผู้ป่วยอย่างไร มีอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษหรือไม่
ติดตามอ่านกันได้ในบทความนี้

โรคมะเร็ง ยังคงเป็น 1 ใน 10 อันดับโรคร้ายที่คนไทยและคนทั่วโลกต่างต้องเผชิญ แม้ว่าวิวัฒนาการการรักษามะเร็งในปัจจุบันจะสามารถทำให้หายขาดจากโรคมะเร็งได้ก็ตาม แต่คงไม่มีใครที่อยากจะเป็นหรือเห็นคนในครอบครัวเราเป็นมะเร็งกันใช่หรือไม่ และคนไทยเองยังมีความเชื่ออยู่ว่าการป่วยด้วยโรคมะเร็งถือว่าเป็นโชคร้าย เป็นเรื่องของบุญบาป แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดัน แม้กระทั่งไข้หวัด ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่โรคมะเร็ง

เมื่อพบว่าคนในครอบครัวที่เรารักเป็นโรคมะเร็ง หลายคนเกิดอาการช็อค หมดหวังในการรักษา มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยที่พลาดโอกาสในการรักษาเพราะมัวแต่หมดกำลังใจ จนทำให้เกิดความเครียดที่ไปกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งยิ่งแพร่กระจาย ต่อไปนี้จะเป็นเคล็ดลับว่าเราควรทำตัวอย่างไร เมื่อคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็ง

คนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง

เราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อทราบว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง

1.รับฟัง

การรับฟังเป็นสิ่งที่ดีที่สุด พยายามฟังโดยไม่มีการตัดสินใด ๆ การนั่งข้าง ๆ คนที่รักโดยไม่ต้องพูดอะไร แค่รับฟังความเครียดและเรื่องราวในใจ นั่นถือเป็นการปฏิบัติต่อผู้ป่วยมะเร็งได้ดีที่สุด

2.รวบรวมสติ

สติเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ การมีสติจะรู้ว่าเราต้องทำอย่างไรต่อไป ควรจะเริ่มจากอะไรก่อน ขั้นตอนนี้ควรปรึกษาแพทย์ สอบถามทุกอย่างที่ควรจะต้องรู้ เช่น สิทธิและขั้นตอนการรักษามะเร็ง เช่น ประกันมะเร็ง ประกันสุขภาพ สิทธิประกันสังคม บัตรทอง รวมถึงศึกษาชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็งที่เป็นอยู่ วิธีการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

3.ศึกษาชนิดของมะเร็ง

ทั้งตัวผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวควรรู้จักชนิดของมะเร็งที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อรู้ชนิดของมะเร็งแล้วขั้นตอนต่อไปคือ การรักษา แต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการรักษา เราควรรู้ด้วยว่าชนิดของมะเร็งที่เป็นอยู่นั้นต้องปรับพฤติกรรมอะไรบ้าง อาการที่ต้องพึงระวัง และการเตรียมความพร้อมก่อนการรักษา

4.เตรียมความพร้อม

สิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของอารมณ์ ความเครียด ผู้ป่วยต้องยอมรับก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้วและเราจะหาทางรักษามัน ขั้นตอนนี้สมาชิกในครอบครัวสามารถช่วยเรื่องอารมณ์และบรรเทาความเครียดของผู้ป่วยได้ โดยการช่วยวางแผนขั้นตอนการรักษาต่าง ๆ การปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน และกำลังใจจากคนรอบตัว

5.เลือกโรงพยาบาลที่จะทำการรักษา

หากโชคดีที่ทำประกันมะเร็งเอาไว้ขั้นตอนนี้จะไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ เพราะสามารถเลือกรับการรักษาได้เกือบทุกที่ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐฯ หรือโรงพยาบาลเอกชน แต่หากไม่ได้ทำประกันเอาไว้ขั้นตอนนี้อาจลำบากเสียหน่อย เพราะตัวเลือกอาจมีไม่มาก อาจต้องเข้ารับการรักษาตามสิทธิต่าง ๆ ที่มี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าจะสิทธิประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ มักจะส่งตัวผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลรัฐฯ ด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่ต้องกังวลว่าโรงพยาบาลรัฐฯ จะสู้เอกชนได้หรือ จริง ๆ แล้วอาจารย์หมอเก่ง ๆ ก็มาจากโรงพยาบาลของรัฐฯ เเทบจะทั้งสิ้นจึงไม่ต้องกังวลถึงขั้นตอนของการรักษา เพียงแต่ในขั้นตอนการรับบริการอาจไม่ได้รับความสะดวก มีความแออัดจากปริมาณของผู้ป่วยเมื่อไปโรงพยาบาล และไม่สะดวกในการเดินทางเท่ากับการมีประกันมะเร็งแล้วเลือกรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ เพราะการรักษาโรคมะเร็งเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ความสะดวกในด้านต่าง ๆ จะช่วยลดความเครียดให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง

6.หาคนมาดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นคู่สมรส คู่ครอง พ่อแม่ หรือลูกนั่นแหละที่มาคอยดูแล เช่น ขับรถพาไปโรงพยาบาลตามหมอนัด ยาชนิดต่าง ๆ ที่ต้องกินหลังผ่าตัด ดูแลเมื่อมีอาการข้างเคียงหลังการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด การปรับพื้นที่อยู่อาศัยให้มีความสะดวกแก่ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เช่น หลังการผ่าตัดกลับมาพักฟื้นที่บ้าน ควรย้ายผู้ป่วยลงมานอนชั้นล่างที่ไม่ต้องเดินขึ้นบันได มีคนดูแลเมื่อต้องเข้าห้องน้ำ เป็นต้น

หลังจากกระบวนการข้างต้นทั้งหมดแล้ว สมาชิกในครอบครัวยังต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เพราะอาหารเป็นส่วนสำคัญกับมะเร็งทั้งก่อนการผ่าตัด ระหว่างที่พักฟื้นหลังการผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเครียดของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งมีความต้องการโปรตีนมากกว่าคนปกติ เพราะหากร่างกายรับโปรตีนเข้าไปไม่เพียงพอ กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะถูกทำลายไป หากขาดโปรตีนเป็นเวลานานระบบภูมิคุ้มกันจะเริ่มมีความผิดปกติ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ จุดประสงค์ที่คนในครอบครัวควรดูแลใส่ใจเรื่องอาหารเพราะ

  • เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วหลังการรักษา
  • เพื่อเพิ่มพลังงานและความแข็งแรงให้กับผู้ป่วย
  • ป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเเทรกซ้อนและการกลับมาของโรคมะเร็ง
  • เพื่อช่วยลดผลข้างเคียงในการรักษามะเร็ง

อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก่อนเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับอาหารก่อนเข้ารับการรักษา โดยให้เน้นอาหารที่ไม่ปรุงรสใด ๆ เป็นอาหารอ่อนๆ ไม่ใช้น้ำมัน งดของมัน ๆ ปิ้งย่าง เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม กับข้าวรสชาติอ่อน ๆ เน้นกินผักให้ครบ 5 สีในทุก ๆ วัน

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในช่วงที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ทั้ง 3 วิธี สามารถเเบ่งออกได้เป็น

1.การรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อร้ายออก

หลังการผ่าตัดร่างกายต้องการอาหารประเภทโปรตีน เพื่อช่วยในการสมานแผลผ่าตัด อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังผ่าตัด เช่น แกงจืด ปลานึ่ง อาหารจำพวกซุปใสรสไม่จัด น้ำผลไม้ หลังจากพักฟื้นมาสักระยะค่อยปรับอาหาร เช่น ข้าวสวย ขนมปัง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน

2.การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสี

ตำแหน่งในการฉายรังสีและปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยแต่ละคนได้รับจะส่งผลต่อการรับประทานอาหารแตกต่างกันออกไป เช่น ฉายรังสีบริเวณโพรงจมูก ลิ้น กล่องเสียง หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ มักจะทำให้เกิดแผลในช่องปากทำให้กลืนอาหารลำบาก อาหารที่เหมาะเช่น อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซุป หรืออาหารที่ผ่านการปั่น เป็นต้น

3.การรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด

การรับการรักษาด้วยเคมีบำบัดส่วนใหญ่แล้วจะส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยโรคมะเร็งค่อนข้างเยอะ เช่น การรับรสหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไป ความอยากอาหารลดลง ท้องผูก หรือท้องเสีย เป็นแผลในปาก คลื่นไส้อาเจียน อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น น้ำมะนาวโซดา หากผู้ป่วยมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนไป การดื่มน้ำผลไม้รสจัด ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรส หรือหากท้องผูก ให้ลองเปลี่ยนจากข้าวขาวเป็นข้าวกล้องที่มีกากใยสูง กล้วยน้ำว้า แอปเปิ้ล ลูกพรุน และควรดื่มน้ำมาก ๆ

คนในครอบครัวหายจากโรคมะเร็ง

อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังจากหายขาดแล้ว

หลังจากผ่านขั้นตอนการรักษาต่าง ๆ จนหายขาดแล้ว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังในเรื่องของอาหาร ทั้งนี้ ไม่เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเท่านั้น สมาชิกทุกคนในครอบครัวก็ควรที่จะปรับพฤติกรรมการกินด้วยเช่นกัน เช่น

  • งดอาหารปิ้งย่าง หากจำเป็นต้องกินให้เลือกกินส่วนที่ไม่ไหม้
  • งดอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ของทอดต่าง ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ลองปรับลดจำนวนครั้งในการบริโภคอาหารเหล่านี้ดู เช่น ปกติกินไก่ทอดอาทิตย์ละ 4 วัน ลองปรับลดลงมาให้เหลืออาทิตย์ละ 1 วัน และค่อย ๆ ปรับลดให้ห่างจากอาทิตย์ละครั้งเป็นเดือนละครั้ง หรือนาน ๆ ครั้ง
  • งดพวกอาหารหมักดอง อาหารหมักดองในที่นี้ไม่เพียงแต่ ผักดองต่าง ๆ เท่านั้น ยังรวมไปถึง ปลาอินทรีย์เค็ม ไส้กรอกอีสาน ปลาส้ม หรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปต่าง ๆ เช่นเดียวกันถ้างดไม่ได้ ให้ลดจำนวนครั้งในการบริโภคดู
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  • งดเครื่องดื่มหวานจัด น้ำอัดลม น้ำที่ใส่สีผสมอาหาร

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการเตรียมความพร้อมในการรับมือเมื่อรู้ว่าคนในครอบครัวของเราป่วยเป็นโรคมะเร็ง และหากคุณอ่านบทความนี้ในขณะที่คนในครอบครัว หรือตัวคุณกำลังเผชิญกับโรคมะเร็งอยู่ รู้ใจขอเป็นกำลังใจให้คุณผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ คุณอาจจะบาดเจ็บบ้างเล็กน้อย อาจจะหลงเหลือรอยแผลเป็น แต่คุณจะหายดีในที่สุด เช่นคนอื่นที่เจอเรื่องราวแบบเดียวกันกับคุณ

สำหรับผู้ที่ต้องการทำประกันมะเร็งที่รู้ใจ ที่ซื้อง่าย ราคาดี เชื่อถือได้ คุ้มครองมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ ตรวจเจอรับเงินก้อนทันทีสูงสุดถึงหลักล้าน สามารถศึกษารายละเอียดและข้อมูลผลประโยชน์ประกันมะเร็งที่รู้ใจผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม.

โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ หากสงสัยว่ามีบางอย่างผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ในทันที รู้ใจเป็นห่วงคุณ และครอบครัวที่คุณรัก

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai