Roojai

โรคสุดฮิตของมนุษย์ยุคโซเชียลมีเดีย

โรคสุดฮิต ของมนุษย์ยุคโซเชียลมีเดีย

ในยุคที่สื่อโซเชียลมีเดียครองเมือง พฤติกรรมของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คนติดเล่นโทรศัพท์มือถือกันตั้งแต่อายุยังน้อยและคนไทยเองก็ติดอันดับ 5 ของโลกที่ใช้เวลาอยู่ในสื่อโซเชียลมีเดียนานที่สุดในแต่ละวัน การเข้าไปส่องโลกโซเชียลมีเดียทุก ๆ วัน วันละหลายชั่วโมงนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากมาย กลายเป็นโรคยอดนิยมที่แม้คนติดโซเชียลมีเดียไม่อยากเป็น แต่ก็เป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราลองมาอ่านบทความนี้กันดู

จากสถิติการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกรายงานว่า คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และเมื่อนำไปเทียบว่าเป็นการเล่นโทรศัพท์เพื่อท่องโซเชียลมีเดียนั้น คนไทยถือว่าติดอันดับที่ 2 ของโลกซึ่งถือว่าสูงมาก และไม่ใช่เรื่องน่ายินดี การเล่นโทรศัพท์ จ้องจอมือถือนาน ๆ ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อร่างกาย ทั้งดวงตา สมอง ความจำ สมาธิและการเข้าสังคม เรามาดูกันว่าโรคฮิตใหม่ ๆ ที่คนยุคโซเชียลมีเดียครองเมืองเป็นกันมีอะไรบ้าง

โรคซึมเศร้า | รู้ใจ
1. โรคซึมเศร้าจากโซเชียลมีเดีย

ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป ติ๊กต่อก หรือสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เข้ามามีอิทธิพลมากในการใช้ชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ในบางคนที่ติดโซเชียลมีเดียหนักมาก ตื่นปุ๊บหยิบมือถือกดเข้าไปเช็คความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ปั๊บ ต้องเข้าใจหลักการทำงานของโซเชียลมีเดียก่อนว่า มันเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของคน เช่น เลื่อนฟีดไปเจอเรื่องตลกก็รู้สึกอารมณ์ดี พออ่านจบเลื่อนฟีดต่อเจอเพื่อนโพสต์รูปรถคันใหม่ป้ายแดงก็จะอีกอารมณ์หนึ่ง เลื่อนฟีดไปเจอข่าวอุบัติเหตุก็จะอีกอารมณ์หนึ่ง จะสังเกตได้ว่าภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที เรามีอารมณ์หลากหลายเกิดขึ้นหรือการเลื่อนฟีดอ่านโพสต์ของเพื่อน ๆ ไลฟ์สไตล์ดารา แล้วนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองจนนานวันเข้ากลายเป็นความเครียด เกิดการบั่นทอนภายในจิตใจ  นี่เองที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และพัฒนาไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าที่มาจากการเล่นโซเชียลมีเดีย

2. ละเมอแชท

พฤติกรรมการละเมอแล้วแชทถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ ได้ยินเสียงแชทเด้งไม่ได้ต้องหยิบมือถือขึ้นมาตอบ ไม่ว่าจะตื่นหรือจะนอน จนทำให้กลายเป็นการละเมอแชท ผลเสียของการละเมอแชทที่เห็นได้ชัด ๆ เลยคือ การตอบข้อความโดยไม่ได้พิจารณาก่อนตอบ ผลกระทบนี้นอกจากจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายแล้ว ยังนำไปสู่การเกิดโรคอ้วนหรือส่งผลกระทบต่อการเรียนและการทำงาน ถือเป็นโรคจากโซเมียลมีเดียที่ส่งผลร้ายแรงอย่างมาก

วุ้นตาเสื่อม | รู้ใจ
3. โรควุ้นตาเสื่อม

โรควุ้นในตาเสื่อมไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น ในปัจจุบันพบว่าเกิดขึ้นกับวัยทำงาน วัยเรียนและคนที่อายุน้อยเพิ่มมากขึ้น สาเหตุมาจากการเล่นโทรศัพท์มือถือมากเกินไป ส่วนใหญ่เมื่อเล่นโซเชียลมีเดียแล้วจะเกิดความเพลิดเพลิน และยิ่งบางคนใช้มือถือในห้องขณะปิดไฟ ทำให้สายตาที่ทำงานหนักมาทั้งวันอยู่แล้ว ยิ่งต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น วิธีสังเกตว่าวุ้นในตาเสื่อมให้สังเกตจากการมอง หากมองเห็นเป็นหยากไย่หรือมีเส้นวน ๆ กวนสายตา ให้สันนิษฐานว่า วุ้นของสายตาเรากำลังเริ่มเสื่อม และพิจารณาโดยด่วนว่าเรามีพฤติกรรมเสพติดโซเชียลมีเดียหรือไม่

4. โรคโนโมโฟเบียหรือโรคกลัวการขาดมือถือ

ให้สังเกตว่าหากเรามีอาการแบบนี้ หมายความว่าเข้าขั้นเป็นโรคขาดมือถือไม่ได้ และเริ่มมีพฤติกรรมเสพติดโซเชียลมีเดีย เช่น หงุดหงิดกระวนกระวายใจเมื่อไม่ได้เล่นโทรศัพท์มือถือ หมกมุ่นอยู่กับมือถือได้ทั้งวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ปัญหาสุขภาพที่จะตามมาก็คือ ปวดตา เมื่อยคอ นิ้วล็อค และหมอนรองกระดูกเสื่อม

แก่ก่อนวัย | รู้ใจ
5. โรคสมาร์ทโฟนเฟซ

สมาร์ทโฟนเฟซหรือโรคหน้าแก่ก่อนวัย เกิดจากการที่เราเสพติดโซเชียลมีเดียเลยมีพฤติกรรมมักก้มหน้ามองจอเล่นโทรศัพท์มือถือนานเกินไปในทุก ๆ วัน เช่น การฆ่าเวลาระหว่างโดยสารรถสาธารณะและก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็ง บริเวณลำคอหย่อนคล้อย กล้ามเนื้อที่มุมปากตกไปตรงคาง จนใบหน้าผิดรูป หรือที่เรียกว่ามีเหนียงนั่นเอง 

6. โรคสมาธิสั้นเทียม

โรคสมาธิสั้นเทียม มีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้นต่างกันตรงที่สาเหตุของโรค โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมอง แต่โรคสมาธิสั้นเทียมเกิดจากพฤติกรรมที่ทำจนติดเป็นนิสัย และส่งผลต่อสมาธิในระยะยาว เช่น การเสพติดโซเชียลมีเดีย เทคโนโลยีในปัจจุบัน มือถือ แท็บเล็ต อินเตอร์เน็ต แสงสีฟ้าจากหน้าจอที่ไปทำลายสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ในเรื่องของความจำ ความเร็วจากการเสิร์ชหาข้อมูลที่เสิร์ชไม่กี่นาทีก็เจอ ทำให้เราไม่ชินกับการรอคอย และอาการกระวนกระวายเมื่อเจอเรื่องที่ชักช้าไม่ทันใจ ล้วนเกิดจากความรวดเร็วทันใจ และเนื้อหาสั้น ๆ บนโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น

social media detox | รู้ใจ

ปรับพฤติกรรม เอาตัวรอดจากการเสพติดโซเชียลมีเดีย

หากคุณสงสัยว่าคุณกำลังเป็น 1 ในโรคที่กล่าวมาข้างต้น ลองปรับพฤติกรรมตามคำอธิบายด้านล่างนี้ดู 

  • ไม่ควรเล่นโทรศัพท์บนที่นอน  การเล่นโทรศัพท์บนที่นอนจะทำให้เกิดพฤติกรรมติดโซเชียลมีเดียตามความเคยชิน เมื่อตื่นนอนก็จับเล่นโทรศัพท์เป็นอย่างแรก ก่อนเข้านอนก็เล่นโทรศัพท์
  • ฝึกโฟกัสให้ได้นานๆ เช่น ลองอ่านหนังสือแทนการเล่นโทรศัพท์ โดยเริ่มจากการอ่านวันละ 5 หน้า ฝึกไปเรื่อย ๆ จะทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น ปกป้องโรคสมาธิสั้นเทียมได้ดี
  • ลองทำ Social Media Detox โดยการปิดมือถือสัก 2-3 วัน เช่น ปิดมือถือระหว่างช่วงหยุดสุดสัปดาห์แล้วลองไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ ลองทำแบบนี้เดือนละครั้ง ห่างจากโซเชียลมีเดียสักพัก จะช่วยให้ความจำดีขึ้น ความเครียดลดลง 
  • ปิดเสียงมือถือ ปิดการแจ้งเตือน การปิดเสียงมือถือทำให้เรามีสมาธิในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปจดจ่อกับเสียงเรียกเข้า หรือเสียงแชทเด้ง 
  • ตั้งกติกาในการเล่นโทรศัพท์ให้กับตัวเอง เช่น จะไม่เล่นโทรศัพท์เมื่ออยู่บนโต๊ะกินข้าว ทำงานเสร็จ 1 อย่างสามารถพักเล่นโทรศัพท์ได้ 10 นาที การสร้างกฏ กติกา ที่ตัวเองยอมรับได้เป็นเหมือนการสร้างวินัยให้กับตัวเองไปด้วยในตัว 

แม้ว่าในยุคปัจจุบันนี้ที่สามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ง่ายและรวดเร็ว แต่สถิติของคนไทยที่เสียเวลาไปกับการใช้อินเตอร์เน็ตในแต่ละวันเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงในด้านของสุขภาพ อารมณ์ และความคิด มนุษย์ในยุคโซเชียลมีเดียอย่างเราจึงควรหันมาดูแลสุขภาพให้เป็นไปตามวัย และการปรับพฤติกรรมใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสมจะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษอย่างแน่นอน

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai