มะเร็งตับอ่อน แม้จะเป็นมะเร็งชนิดที่เราอาจจะพบเจอได้ไม่บ่อยหรือหากจะให้จัดเป็นลำดับ มะเร็งตับอ่อนก็อยู่ในลำดับที่ 10 ของมะเร็งที่พบได้ในคนไทยที่เป็นเพศชาย ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งระดับโรงพยาบาลในปี 2563 ถึงแม้จะเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยแต่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับอ่อนสูงเป็นอันดับต้น ๆ เรียกว่าถึงจะพบน้อยแต่รุนแรงมาก และถือเป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยไม่แสดงอาการ จึงยากต่อการตรวจวินิจฉัย ซึ่งกว่าอาการจะกำเริบก็เป็นขั้นรุนแรงไปแล้ว บทความนี้จะนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งตับอ่อน อาการเป็นอย่างไร วิธีตรวจและวิธีรักษา แล้วถ้าเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกคนหรือไม่ มาหาคำตอบกัน
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- มะเร็งตับอ่อน เกิดจากอะไร?
- อาการมะเร็งตับอ่อนเป็นยังไง?
- ใครบ้างเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อน?
- การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน
- มะเร็งตับอ่อนรักษายังไง?
- อาการมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย
- วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
มะเร็งตับอ่อน เกิดจากอะไร?
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับตับอ่อนก่อน ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังกระเพาะอาหาร ใกล้ ๆ กับลำไส้เล็กส่วนต้น ตับอ่อนมีหน้าที่ในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดและผลิตอินซูลินนั่นเอง
มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เกิดจากเมื่อเซลล์ในตับอ่อนเองเกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และเซลล์เหล่านั้นยังเพิ่มจำนวนจนไม่สามารถควบคุมได้และเกิดเป็นเนื้องอก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมะเร็งตับอ่อนจะเริ่มต้นที่ท่อตับอ่อนซึ่งถือเป็นท่อที่เชื่อมกับท่อน้ำดี โดยในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ และมักจะแสดงอาการเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว
อาการมะเร็งตับอ่อนเป็นยังไง?
อาการมะเร็งตับอ่อนระยะแรก แทบจะไม่แสดงอาการเลย ต้องใช้เวลาสักระยะมะเร็งตับอ่อนถึงจะแสดงอาการ โดยอาจมีอาการเริ่มจากการปวดท้อง ท้องอืด หรือมีอาการปวดหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการทั่ว ๆ ไปที่คนปกติก็มักจะเป็นกันจึงทำให้ผู้ป่วยกว่าจะรู้ตัวก็เมื่อมันแพร่กระจายไปแล้ว นี่แหละถึงเรียกมะเร็งว่าเป็น “ภัยเงียบ” ที่น่ากลัว โดยอาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ เช่น
- มีอาการปวดท้องบริเวณสีข้างหรือด้านหลังขวา
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- อุจจาระซีดหรือเหลว
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- เหนื่อย และเพลีย
- อาจมีการเกิดลิ่มเลือด หรือทำให้มีอาการปวดบวมตามแขนตามขา
ใครบ้างเสี่ยงเป็นมะเร็งตับอ่อน?
มะเร็งตับอ่อนเป็นโรคที่มีปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงหลายอย่าง ที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคได้ โดยปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ คือ
- อายุ มีความเสี่ยงตั้งแต่ 40-70 ปี โดยส่วนใหญ่มักตรวจพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
- การสูบบุหรี่ทุกชนิด ทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น
- โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- คนที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรัง
- คนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน
สำหรับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนนั้น แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว และหลังจากนั้นจะพิจารณาเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะกับผู้ป่วย เช่น
- การตรวจด้วยเทคโนโลยีภาพด้วยการเอกซเรย์
- การตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ หรือ CT Scanการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI
- การตรวจด้วยกล้องอัลตราซาวนด์หรือ EUS
- การตรวจด้วยห้องปฏิบัติการ เช่น เจาะเลือดตรวจหาสารบ่งชี้ ตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจ
มะเร็งตับอ่อนรักษายังไง?
มะเร็งตับอ่อน รักษาหายไหม? หากเป็นระยะแรก ๆ การผ่าตัดตัดก้อนมะเร็งออกเป็นการรักษาที่ให้ผลดีที่สุดที่หวังผลในการรักษาให้หายขาด แต่ปัญหาคือผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่โรคลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งก็คือระยะที่แสดงอาการต่าง ๆ นั่นเอง ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ มีผู้ป่วยเพียง 15-20% เท่านั้นที่สามารถผ่าตัดได้
ในกรณีที่ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกไม่ได้ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงน้ำดีเพื่อลดอาการดีซ่าน หรือทางเบี่ยงให้กระเพาะอาหารเพื่อลดการอุดตันของทางเดินอาหารยังเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ รังสีรักษาและเคมีบำบัด (คีโม) ก็มักใช้ประคับประคองอาการของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
การทำประกันมะเร็งเผื่อเอาไว้ ยังเป็นทางเลือกที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นมะเร็ง ทั้งค่ายา ค่าห้อง ค่าหมอ ค่าผ่าตัด ค่าทำเคมีบำบัด ค่าฉายแสง ค่าเดินทาง ค่าบ้าน ค่ารถ ฯลฯ นอกจากนั้นการวางแผนทำประกันมะเร็งคุ้มครองทุกชนิด ทุกระยะ รับเงินก้อนที่รู้ใจให้กับตัวเองและคนที่คุณรัก ก็จะทำให้เข้าถึงการรักษาในแบบที่ตัวเองเลือกได้โดยไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่าย
อาการมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย
อาการระยะสุดท้ายของผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสุขภาพของผู้ป่วย โดยอาการที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- นอนไม่หลับ
- ปวด เจ็บ และอาจมีความรุนแรงมากกว่าเดิม
- เบื่อและรับประทานอาหารไม่ได้
- ซึมเศร้า
- เวียนหัว
- คลื่นไส้หายใจลำบากหรือหายใจผิดปกติ
ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายจะอยู่ได้นานแค่ไหน?
คำถามที่ว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมะเร็งตับอ่อน อยู่ได้นานไหม มะเร็งตับอ่อนระยะที่ 4 อยู่ได้นานแค่ไหน คำตอบขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน การดูแลเรื่องอาหารการกิน รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย และความสม่ำเสมอในการพบแพทย์ด้วย คำถามนี้ จึงตอบเป็นจำนวนวันหรือเดือนที่ชัดเจนไม่ได้
วิธีดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการซับซ้อนและมีภาวะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน การดูแลต้องเน้นไปที่การรักษาแบบประคับประคอง หรือการรักษาตามอาการ ซึ่งมีเป้าหมายคือบรรเทาความเจ็บปวด ลดความทุกข์ทรมาน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะช่วยทำให้พวกเขามีสภาพชีวิตและสภาพจิตใจที่ดีขึ้น
1. ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน
ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแต่ละครอบครัวอาจจะมีความพร้อมไม่เหมือนกัน การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่บ้าน ต้องพึ่งพาความใส่ใจ ความเข้าใจในโรคของผู้ป่วย รวมถึงเรื่องของเวลาในการดูแล ผู้ดูแลอาจต้องเสียสละเวลาของตัวเองทั้งวัน เพื่อดูแลผู้ป่วยที่นอกจากการกินข้าว กินยา การขับถ่ายและทำความสะอาดร่างกาย ผู้ดูแลยังจะต้องคอยปรับท่านอนให้ทุก 1-2 ชั่วโมงอีกด้วยเพื่อป้องกันแผลกดทับ
2. ดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล
กรณีที่ทางครอบครัวไม่มีคนดูแลอย่างเต็มเวลา การให้โรงพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยช่วยดูแลแทนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่อาจจะต้องเลือกศูนย์หรือโรงพยาบาลที่ดีสักหน่อย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิตพวกเขา ซึ่งการดูแลแบบนี้จำเป็นต้องพึ่งพากำลังทรัพย์อยู่พอสมควร แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระของคนในครอบครัวได้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญผู้ป่วยอยู่ใกล้หมอและยังได้รับการดูแลอย่างถูกต้องอีกด้วย
มะเร็งตับอ่อน หากเป็นระยะแรก ๆ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวเพราะมะเร็งระยะแรกมักไม่แสดงอาการ กลายเป็นภัยเงียบที่เหมือนระเบิดเวลาอยู่ภายในร่างกายของเรา ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอและคอยสังเกตอาการของร่างกาย จะเป็นการที่ดีสุดที่จะทำให้เราพบเร็ว รักษาได้ทันท่วงที
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)
คำจำกัดความ
ฮอร์โมนอินซูลิน | คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่หลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อินซูลินจะกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ดึงน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน รวมถึงนำน้ำตาลส่วนเกินไปสะสมไว้ที่ตับในรูปแบบของไกลโคเจน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรอง |
แผลกดทับ | เป็นแผลที่เกิดจากการกดทับจากการนอนท่าเดิมเป็นเวลานานๆ ทำให้ผิวหนังบริเวณที่โดนกดทับถูกทำลาย ทำให้เกิดเนื้อตายและเป็นแผลขึ้นมาได้และอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย |