Roojai

เช็คสิทธิ์ที่ควรได้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนรถโดยสารสาธารณะ

สิ่งที่ควรได้รับเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

ถึงแม้ว่าการพยายามแก้ปัญหาการจราจรโดยการสร้างรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงทุกโซนของกรุงเทพฯ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังใช้รถส่วนตัวกันอยู่ดี นั่นทำให้เกิดปัญหาการจราจรที่ติดขัดอยู่ทุกวัน นอกจาก ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนที่ใคร ๆ ก็อยากไปก่อนเสมอ มันจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เราเห็นตามหน้าข่าวเกือบทุกวัน แล้วถ้าอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่บนรถโดยสารสาธารณะล่ะ จะทำยังไง เรียกร้องอะไรได้บ้าง? ติดตามอ่านบทความนี้ไปด้วยกัน

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

ระบบขนส่งสาธารณะ คืออะไร?

ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นระบบขนส่งสำหรับผู้โดยสาร โดยมีระบบการเดินทางแบบเป็นกลุ่ม จุดประสงค์มีให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้งาน ซึ่งในที่นี้จะแตกต่างจากการขนส่งส่วนตัว (รถยนต์ส่วนตัว) สำหรับระบบขนส่งสาธารณะของไทย มีตัวอย่างดังต่อไปนี้ 

  1. รถไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของกทม. โดยมีเส้นทางให้บริการครอบคลุมย่านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และสถานที่ท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ เช่น บีทีเอส (BTS), รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT), แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL)
  2. รถไฟ อีกหนึ่งทางเลือกเดินทางในกรุงเทพ และออกต่างจังหวัดได้ด้วย มีเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อถึง 50 จังหวัด และมีแผนที่จะขยายเส้นทางให้ครอบคลุมถึง 61 จังหวัดภายในปี พ.ศ. 2570
  3. รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) เปิดให้บริการเฉพาะที่สถานีที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี วิ่งผ่านถนนนราธิวาส-ราชนครินทร์ และวิ่งตามเส้นทางพระราม 3 ไปสิ้นสุดที่สถานีราชพฤกษ์
  4. รถโดยสารประจำทาง หรือที่เราเรียกกันว่ารถเมล์ มีให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ มีทั้งแบบปรับอากาศและแบบไม่ปรับอากาศ คุณภาพของรถจะแตกต่างกันออกไปเพราะมีทั้งบริษัทเอกชนที่มาร่วมให้บริการและให้บริการโดยขนส่งสาธารณะ ค่าโดยสารจะถูกกว่าระบบขนส่งอื่น ๆ 
  5. รถแท็กซี่ เป็นระบบขนส่งอีกหนึ่งประเภท โดยการคิดค่าโดยสารจะมาจากมิเตอร์ ค่าโดยสารเริ่มต้นจะเริ่มที่ 35 บาท หากมีการขึ้นทางด่วนพิเศษผู้โดยสารต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย
  6. รถสองแถว เป็นที่นิยมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด และเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของไทยด้วย ใช้บริการง่าย และเป็นขนส่งที่เข้าถึงย่านชุมชนในราคาไม่แพง
ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย

เกิดอุบัติเหตุบนรถโดยสารสาธารณะ เรียกร้องอะไรได้บ้าง?

หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นขณะโดยสารรถประจำทางหรือรถสาธารณะ ผู้โดยสารสามารถเรียกร้องหรือฟ้องร้องค่าเสียหายจากประกันภัย และผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสาร (เจ้าของ) โดยไม่มีการประวิงเวลาหรือบังคับให้มีการประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องสิทธิ์ได้ถึง 3 ส่วน ดังนี้

1. เรียกร้องค่าชดเชยจากพ.ร.บ.

รถโดยสารสาธารณะ รถยนต์รับจ้างสาธารณะ รถยนต์ส่วนบุคคล รวมไปถึงรถจักรยานยนต์ ต้องทำประกันภัยภาคบังคับ หรือที่เราเรียกกันว่า พ.ร.บ. ซึ่งเป็นการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ 2535 โดยพ.ร.บ.จะคุ้มครองเฉพาะ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเท่านั้น สิทธิ์ที่ผู้โดยสารสามารถเรียกร้องได้หากเกิดอุบัติเหตุ สามารถทำได้ดังนี้ 

  • ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท กรณีเป็นผู้โดยสาร ไม่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์ถูกผิด
  • หากบาดเจ็บทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ จะให้ความคุ้มครอง 250,000-500,000 บาท/คน
  • หากเสียชีวิต เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จะให้ความคุ้มครองสูงสุด 500,000 บาท/คน
  • ค่าชดเชยรายวัน ในกรณีต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
เรียกร้องค่าชดเชยจากอุบัติเหตุบนรถโดยสารสาธารณะ

2. เรียกร้องค่าชดเชยจากประกันรถภาคสมัครใจ

หากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากรถยนต์รับจ้างสาธารณะนั้นรุนแรง และมีอาการบาดเจ็บที่เกินมูลค่าของวงเงินที่กำหนดไว้ (เกินวงเงินจาก พ.ร.บ.) ผู้บาดเจ็บสามารถเรียกร้องสิทธิจากประกันรถยนต์สาธารณะหรือประกันภาคสมัครใจของรถคันที่เกิดเหตุได้ โดยรายละเอียดจะขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ของบริษัทที่รถทำประกันไว้ ตัวอย่างเช่น

  • ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินมาจาก พ.ร.บ. (วงเงิน พ.ร.บ.จะทำงานก่อน หากไม่พอจะมาเบิกที่ประกันภาคสมัครใจ)
  • ค่าทรมานจากการบาดเจ็บ
  • ค่าทรัพย์สินที่เสียหาย ชำรุด หรือสูญหาย
  • ค่าเสียหายเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน

3. ฟ้องร้องต่อศาล กรณีที่เจ้าของรถหรือประกันภัยไม่จ่าย

อีกหนึ่งทางเลือกของผู้ประสบเหตุ หากประกันปัดความรับผิดชอบในการจ่ายค่าสินไหม ผู้เสียหายสามรถฟ้องศาลคดีผู้บริโภคโดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม และสามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นประโยชน์และทุกคนควรรู้เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนรถโดยสารสาธารณะ เพราะหากเกิดมีปัญหาหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ เราจะได้รู้ว่าสิทธิของเรามีอะไรบ้าง และนอกจากนั้นการวางแผนทำประกันอุบัติเหตุติดตัวไว้ อุ่นใจได้มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ

ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ ช่องทางไหนได้บ้าง?

หากคุณเป็นคนที่ใช้รถยนต์สารสาธารณะ ไม่ว่าจะรถเมล์ รถแท็กซี่ รถสามล้อ รถสองแถว แล้วมีปัญหาอยากร้องเรียน เช่น ขับรถน่ากลัว สภาพรถไม่สมบูรณ์ ขับออกนอกเส้นทาง กรมการขนส่งทางบก ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ “รับและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ” หรือโทร 1584

วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่คาดฝัน

วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่คาดฝัน

อุบัติเหตุหรือสถานการณ์ที่เราไม่อยากให้มันเกิด มันมักจะควบคุมไม่ได้ แต่หากมันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเรามีวิธีรับมือที่ดีและปฏิบัติอย่างถูกต้อง อาจทำให้เรารอดพ้นจากวิกฤติการณ์เหล่านั้นได้ หรือสามารถช่วยเหลือหากพบเห็นผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเหล่านั้นได้ เพียงทำตามวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ 

1. ตั้งสติให้ได้เร็วที่สุด

หากเราตั้งสติได้เราจะรู้ว่าควรทำอะไรเป็นอันดับแรก เช่น เช็คสภาพร่างกายตัวเอง มีเจ็บหรือมีบาดแผลตรงไหนหรือไม่ หากไม่มีให้มองไปรอบ ๆ เพื่อหาทางออกจากสถานที่นั้น ในกรณีเกิดอาการแพนิค ให้หาถุงพลาสติกหรือถ้าไม่มีให้นำมือทั้งสองข้างทางปิดระหว่างปากและจมูก และหายใจเข้า-ออกช้า ๆ จะช่วยลดอาการแพนิคได้ 

2. มีผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บในอุบัติเหตุ

หากพบเห็นผู้ประสบเหตุบนท้องถนน ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดกับตนเองหรือพบเห็นผู้อื่น ควรโทรแจ้งสพฉ.(สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) ที่เบอร์ 1669 ว่าเหตุนั้นเกิดขึ้นที่ใด เป็นเหตุการณ์อะไร หากใช้มีสติพอจะใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเอาไว้ ควรจะทำ และรอทีมกู้ภัยมาช่วย ไม่ควรเข้าไปช่วยผู้ประสบเหตุด้วยตัวเองหากไม่มีความรู้

การป้องกันอุบัติเหตุจากรถยนต์รับจ้างสาธารณะ หรือรถสาธารณะอาจเป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่ใช่คนขับ และอุบัติเหตุบนท้องถนนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เราเองก็พยายามปกป้องตัวเองได้เช่นกัน เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย การเรียนรู้การทุบกระจก เปิดประตูฉุกเฉิน เป็นต้น

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ค่าสินไหมทดแทน เงินที่ต้องทำการชดใช้เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน หรือบุคคล หรือจากการผิดสัญญา ที่ต้องชดใช้คืนด้วยเงิน
ประกันรถภาคสมัครใจ ประกันรถที่ผู้เอาประกันสมัครใจที่จะทำประกันเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองส่วนต่าง ๆ ที่พ.ร.บ.ไม่คุ้มครอง เช่น ค่าซ่อมรถ, ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจากพ.ร.บ., ค่าประกันตัว, บริการรถลาก เป็นต้น