ประกันรถยนต์ภาคบังคับหรือ พ.ร.บ. คือ
การประกันภัยรถภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance) หรือที่รู้จักกันว่า “พ.ร.บ.” เป็นการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2536 โดยกำหนดให้รถยนต์รวมถึงรถจักรยานยนต์ทุกคัน ทุกชนิดที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก และรถที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องยนต์ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น ต้องทำประกันภัยภาคบังคับตาม พรบ. นี้ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก หรือคนเดินถนน กรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุดต่อคนของประกันภัยภาคบังคับ (พรบ.) นั้นมีจำกัด ดังนั้น เจ้าของรถยนต์จึงควรซื้อประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ เพื่อที่จะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมสูงสุด
ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันรถยนต์ภาคบังคับ (พรบ.) ได้แก่ เจ้าของรถ ผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และเจ้าของรถที่นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ การฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยภาคบังคับ (พรบ.) จะได้รับโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
รายละเอียดความคุ้มครอง
- ค่ารักษาพยาบาลตามจริงกรณีบาดเจ็บ คุ้มครองสูงสุด 80,000 บ. ต่อคน
- ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ* คุ้มครอง 200,000 - 500,000 บ.
- ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร คุ้มครอง 500,000 บ. ต่อคน
- ค่าชดเชยรายวันกรณีนอนโรงพยาบาล 200 บ. ต่อวัน (สูงสุดรวมไม่เกิน 20 วัน)
การที่รัฐออกกฎหมายกำหนดให้รถทุกคัน ต้องทำประกันภัยภาคบังคับ (พรบ.) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพราะเหตุประสบภัยจากรถโดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีในกรณีที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- เป็นหลักประกันให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ
- เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายเพราะเหตุประสบภัยจากรถ
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว