Roojai

มอเตอร์ไซค์ล้มต้องทำยังไง วิธีดูแลแผลไม่ให้ทิ้งรอยแผลเป็น

มอเตอร์ไซค์ | การปฐมพยาบาลเบื้องต้น | รถล้ม | ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

อุบัติเหตุรถล้ม เรียกว่าแทบจะเป็นเรื่องปกติของคนรักมอเตอร์ไซค์ น้อยคนมากที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้วไม่เคยรถล้มเลย เพราะการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นเรื่องที่เสี่ยงมากกว่าการขับรถยนต์อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่คนรักการขี่มอเตอร์ไซค์ต้องทำเพื่อเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุดก็คือ การสวมหมวกกันน็อค สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันสำหรับขี่มอเตอร์ไซค์ และการขับขี่อย่างระมัดระวัง แต่อุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี ไม่ว่าเราจะระมัดระวังตัวเองแค่ไหน เราก็ไม่สามารถควบคุมคนใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ได้เลย วันนี้ รู้ใจจะมาแนะวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดูแลแผลที่เกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ล้มด้วยตัวเอง มีวิธีอะไรบ้าง ต้องรับประทานอาหารประเภทไหนแผลถึงจะหายเร็ว และต้องทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น

แผลที่เกิดจากรถมอเตอร์ไซค์ล้ม มักจะเป็นแผลที่เกิดจากการกระแทก รอยถลอกตามขา ตามแขน หรือตาม ลำตัว เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์หากล้มแล้ว แน่นอนว่าเนื้อหนังของเราต้องเกิดการปะทะหรือเสียดสีกับท้องถนนโดยตรง อาจทำให้เกิดรอยฟกช้ำ แผลถลอกเล็กน้อย ไปจนบาดเจ็บเป็นแผลใหญ่ที่ไม่สามารถรักษาได้เองอาจจะต้องไปหาหมอเพื่อทำการรักษา โดยที่ความรุนแรงของแผลมอเตอร์ไซค์ล้มนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอุบัติเหตุ 

มอเตอร์ไซค์ | การปฐมพยาบาลเบื้องต้น | รถชน | อุบัติเหตุ | รู้ใจ

แผลมอเตอร์ไซค์ล้มมีลักษณะเป็นยังไงบ้าง?

ลักษณะของแผลมอเตอร์ไซค์ล้มที่อาจพบได้บ่อย สามารถเกิดได้ในทุกส่วนของร่างกาย อาจจะเป็นแค่รอยฟกช้ำ รอยขีดข่วนเล็ก ๆ แผลถลอก ไปจนถึงแผลเปิดขนาดใหญ่ หรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ดังนี้

1. เนื้อเยื่ออ่อนได้รับบาดเจ็บ

กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท หรือเนื้อเยื่อบริเวณต้นคอ เป็นแผลจากมอเตอร์ไซค์ล้มที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างที่รถล้ม รถชน หรือเกิดการกระแทกอย่างแรงที่กระดูกสันหลังจนทำให้เนื้อเยื่ออ่อนได้รับบาดเจ็บ

2. แผลที่เกิดจากรอยถลอก

แผลลักษณะนี้เกิดขึ้นจากผิวหนังไปเสียดสีกับวัตถุหรือของมีคมต่าง ๆ เช่น แก้ว กระจก พื้นคอนกรีต เศษหิน หรือเศษวัตถุที่เกิดจากการแตกหักของรถ ขูดหรือบาดมาที่ผิวหนังของเรา จนทำให้เกิดรอยแผลถลอก 

3. การบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

มีตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก บาดแผลนี้อาจเกิดขึ้นในขณะที่หยุดรถกะทันหันหรือรถชนทำให้ศีรษะเคลื่อนที่ไปตามแรงเหวี่ยง อาจไปชนเข้ากับวัตถุรอบตัว จนเกิดเป็นรอยฟกช้ำ รอยถลอก หรือหัวแตก

4. การบาดเจ็บบริเวณแขนและขา

แผลรถมอเตอร์ไซค์ล้มที่เกิดขึ้นบริเวณแขนหรือขา มักจะเกิดขึ้นได้บ่อยกับหัวเข่า ข้อศอก ฝ่ามือ ขึ้นอยู่กับทิศทางของการกระแทกที่ทำให้เกิดรอยช้ำ แผลถลอก ขาแพลงหรือกระดูกหัก

5. การบาดเจ็บบริเวณช่วงอก

มักเกิดจากการกระแทกที่รุนแรง จนทำให้เกิดรอยช้ำหรือเกิดการฟกช้ำภายในร่างกายได้

บาดเจ็บแล้วต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุ การเจ็บป่วย หรืออื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอาการดีขึ้น และค่อยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลหรือส่งตัวไปให้แพทย์ดูแลรักษา ในกรณีที่เป็นแผลเล็กน้อย เช่น รอยถลอก รอยฟกช้ำ แค่ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก็น่าจะเพียงพอโดยไม่ต้องถึงมือแพทย์

ซึ่งการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีความแตกต่างกันตามแต่กรณี ผู้ที่จะเข้าไปปฐมพยาบาลเบื้องต้น จำเป็นต้องมีความรู้หรือทักษะในการปฐมพยาบาล ไม่เช่นนั้น อาการบาดเจ็บของผู้ประสบเหตุอาจเเย่ลงถ้าได้รับการปฐมพยาบาลที่ผิดวิธี 

บาดแผลส่วนใหญ่ที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์ล้ม มักจะเป็นรอยถลอกจากผิวหนังไปเสียดสีกับพื้นถนนอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการไถครูดไปกับพื้นถนน หรือล้มแบบกระแทกลงไปบนพื้นถนน ทำให้ผิวหนังกำพร้าบริเวณดังกล่าวฉีกขาด ลอกออกเป็นขุย มีเลือดซึมออกมา มักตามมาด้วยอาการแสบ และบริเวณรอยถลอกก็มักจะมีเศษฝุ่นหรือสิ่งสกปรกติดอยู่

มอเตอร์ไซค์ล้ม | การปฐมพยาบาลเบื้องต้น | รอยแผลเป็น | ประกันอุบัติเหตุ | รู้ใจ

ขั้นตอนการปฐมพยาบาลบาดแผลถลอกจากมอเตอร์ไซค์ล้ม

  1. ผู้ที่ทำการปฐมพยาบาลหรือการปฐมพยาบาลด้วยตัวเอง จำเป็นอย่างมากที่ต้องทำความสะอาดมือทุกครั้งก่อนสัมผัสบริเวณที่เป็นแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล
  2. ล้างแผลด้วยน้ำเย็น โดยต้องเทน้ำให้ไหลผ่านแผลเพื่อชะล้างเศษฝุ่นหรือสิ่งสกปรกออกไปก่อน ห้าม! ใช้แอลกอฮอลล์ล้างแผลเด็ดขาด หากไม่อยากให้เป็นรอยเเผลเป็น
  3. ฟอกด้วยสบู่บริเวณที่เป็นแผล ค่อย ๆ ถูบริเวณนั้น เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่าง ๆ 
  4. ใช้สำลีชุบยาทาแผลสด แล้วทาบริเวณบาดแผล
  5. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อช ในกรณีที่แผลไม่ใหญ่มากสามารถใช้พลาสเตอร์ยาปิดไว้ก็ได้
ข้อควรระวัง

ให้สังเกตแผลของผู้ได้รับบาดเจ็บหรือของตัวเอง หากเลือดไม่ยอมหยุดไหลแม้จะปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วก็ตาม และหากมีอาการบวม ปวดอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

กินอะไรช่วยให้แผลหายเร็ว?

1. อาหารประเภทโปรตีน

แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดคือ เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ นม และผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเหลือง ธัญพืช โปรตีนมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ สร้างเนื้อเยื่อ ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ประสานยึดติดกันเป็นเนื้อเดียว โดยการรับประทานให้มากกว่าปกติหนึ่งเท่าตัว 

2. วิตามินซี

วิตามินซี ทำหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น จึงทำให้เเผลหายเร็วขึ้น แหล่งวิตามินซีที่พบมากได้แก่ ผลไม้สด ฝรั่ง มะละกอ ส้ม บร็อคโคลี่ พริกหวานสีแดง 

3. ธาตุสังกะสี

ธาตุสังกะสี จะช่วยให้เซลล์สามารถจับกับวิตามินได้มากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น โดยจะพบสังกะสีมากในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ชีส และถั่วเหลือง

ทำยังไงให้แผลไม่ทิ้งรอยแผลเป็น?

  1. แผลสดใหม่ ไม่ควรล้างด้วยแอลกอฮอล์เพราะแอลกอฮอล์จะไปกัดบริเวณบาดแผลทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสเกิดแผลเป็นได้ ฉะนั้น ควรทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า
  2. ทำให้แผลมีความชุ่มชื้นตลอด การปล่อยให้แผลแห้งจนตกสะเก็ดจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้ง่าย การทำให้แผลชุ่มชื้นตลอด แค่ทาโลชั่นหรือ Oil Gel มาทาเคลือบแผลเอาไว้ จะทำให้แผลหายเร็วขึ้นและไม่แห้งตกสะเก็ดจนเป็นแผลเป็น
  3. ป้องกันเชื้อโรคโดยการใช้ผ้าก๊อซสะอาดมาปิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ให้แผลเสียดสีกับเสื้อผ้า และยังช่วยป้องกันการเผลอไปเกาโดนแผลจนทำให้เป็นแผลเป็น 
  4. ดูแลแผลจนหาย 100% เมื่อดูแลแผลจนหายแล้ว ลองหาผลิตภัณฑ์บำรุง ฟื้นฟูผิว มาทาบริเวณรอยแผลเพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น

สุดท้ายนี้ รู้ใจขอให้ทุกคนมีสติในการใช้รถใช้ถนน ขับขี่ปลอดภัย สวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่และอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะขี่ใกล้หรือไกล อุบัติเหตุแม้ป้องกันไม่ได้ 100% แต่เราสามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ และขอแนะนำการทำประกันอุบัติเหตุ เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วนอกจากเจ็บตัว จะได้ไม่ต้องเจ็บใจกับกระเป๋าสตางค์ที่ต้องแฟบลงไปกับค่ารักษาพยาบาล มีเงินสำรองจ่ายในการรักษา เราเองก็ดำเนินชีวิตต่อได้ไร้กังวล

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)