Roojai

เคล็ดลับซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต

คืนภาษี | ลดหย่อนภาษี | รู้ใจ

เป็นเรื่องปกติที่จะสิ้นปีทีไรมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย เจ้าของธุรกิจน้อยใหญ่ หรือทุกสายอาชีพต้องกระวนกระวายหาวิธีลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด การซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีกัน เพราะประกันชีวิตและประกันสุขภาพแบบต่าง ๆ นอกจากเป็นสิ่งที่จะต้องจ่ายเพื่อต่ออายุกรมธรรม์ทุกปีแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ในอนาคตได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการเลือกซื้อของที่ใช้คืนภาษีอย่างคุ้มค่า และเป็นการวางแผนทางการเงินไปได้อีกในตัว

รู้ใจจะมาเปิดเผยเคล็ดลับวิธีเลือกซื้อประกัน ประกันชีวิตและประกันสุขภาพแบบไหนลดหย่อนได้เท่าไหร่ ประกันของพ่อแม่ หรือคู่สมรสนำมาลดหย่อนได้หรือไม่ เรามาอ่านในบทความนี้กัน

ประกันสุขภาพ | ประกันชีวิต | รู้ใจ

การวางแผนลดหย่อนภาษี ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หากวางแผนไม่รอบคอบอาจส่งผลกระทบทางการเงินในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไป กับจำนวนเงินมากมายที่หมดไปกับ “ภาษี” คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงประกันจะไม่ค่อยนึกถึงผลประโยชน์ของมันสักเท่าไหร่ แต่มักจะมีคำถามกลับมาที่ตัวแทนขายประกัน หรือเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทประกันภัยเสมอว่า “มันลดหย่อนภาษีได้ใช่ไหมคะ”

ความคิดที่ว่า ซื้อไปเถอะ เอาไว้ลดหย่อนภาษี มันไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่

อันที่จริงแล้ว ประกันชีวิตไม่ได้มีประโยชน์แค่เอาไว้ลดหย่อนภาษี ประกันถือเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรูปแบบการออมทรัพย์ ค่ารักษาพยาบาล ความมั่นคงของครอบครัว และยังรวมไปถึงการเป็นเงินบำนาญหลังคุณเกษียณอายุอีกด้วย

คำถามที่ตามมาก็คือ ต้องเลือกซื้อแบบไหนล่ะถึงจะคุ้มค่ากับประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น และถ้าซื้อให้คนในครอบครัวด้วยล่ะ จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ทุกคำถามที่คุณคาใจ รู้ใจ จะตอบให้คุณในบทความนี้ ประกันแบบไหนบ้างที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ?

ประกันสุขภาพที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ มี 2 ประเภท

ประกันสุขภาพที่ซื้อให้ตัวเอง

ประกันสุขภาพที่มีทั้งค่ารักษาพยาบาล หรือมีความคุ้มครองอื่น ๆ เช่น คุ้มครองมะเร็ง คุ้มครองโรคร้าย และยังเป็นประกันชีวิตในตัว สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เลย แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท หรือถ้ามีประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ด้วยก็สามารถนำไปลดหย่อนร่วมกันได้ ยกตัวอย่างเช่น

  • ประกันชีวิต + ประกันสุขภาพ + ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ นำทั้ง 3 แบบนี้ไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ก่อนจะซื้อประกันชีวิตและสุขภาพสำหรับตัวเอง อยากให้ศึกษาเงื่อนไขในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนเอาไว้ด้วย ว่ามีเงื่อนไขอะไรที่ต้องนำมาพิจารณาบ้าง เช่น

  • การทำประกันต้องทำที่ประเทศไทยเท่านั้น
  • กรมธรรม์ต้องเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาล
  • หากเป็นกรมธรรม์อุบัติเหตุ จะใช้ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะส่วนที่ให้ความคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น
  • กรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองโรคร้ายแรง สามารถนำเบี้ยส่วนนั้นมาลดหย่อนได้
  • กรมธรรม์ที่เป็นการประกันภัยระยะยาว
  • การจะนำกรมธรรม์ไปลดหย่อนภาษี ผู้เอาประกันจำเป็นต้องแจ้งไปยังบริษัทประกันถึงเจตจำนงค์ในการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษี หากไม่ได้แจ้ง จะนำไปลดหย่อนไม่ได้
ประกันสุขภาพพ่อแม่ | ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ | รู้ใจ

ประกันสุขภาพสำหรับบุพการี (พ่อและแม่)

สำหรับใครที่ทำประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ ก็สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ของทั้งพ่อและแม่รวมกันต้องไม่เกินต้องไม่เกิน 15,000 หากมีการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพร่วมกับพี่น้อง อาจจะต้องตกลงกันว่า ใครจะเอาไปลดหย่อน หรืออาจจะต้องนำมาหารเฉลี่ยกับจำนวนพี่น้องที่เรามีอยู่ เช่น มีพี่น้อง 2 คน ทำประกันสุขภาพให้พ่อและแม่รวม 15,000 บาท นำมาหารจะสิทธิลดหย่อนได้คนละ 7,500 บาท และต้องไม่ลืมเงื่อนไขในการนำไปลดหย่อนด้วย

  • เบี้ยประกันสุขภาพของบุพการี ต้องเป็นพ่อและแม่แท้ ๆ ที่ถูกต้องตามกฏหมายเท่านั้น
  • ทั้งพ่อและแม่รายได้รวมกันต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • หากลูก ๆ ต้องการนำเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ไปลดหย่อน ต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีที่ต้องการลดหย่อนภาษีนั้น เช่น ต้องการลดหย่อนภาษีปี 2565 ต้องอาศัยอยู่ในไทยครบ 180 วันในปี 2565
  • ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเรื่องค่ารักษาพยาบาล ส่วนถ้าเป็นประกันอุบัติเหตุ จะสามารถนำเบี้ยส่วนที่เป็นเฉพาะค่ารักษาพยาบาลมาลดหย่อนได้เท่านั้น เช่นเดียวกับประกันที่ซื้อให้ตัวเอง

ประกันชีวิตที่ซื้อให้คู่สมรส

ประกันชีวิตที่ซื้อให้คู่สมรส ต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น ถึงจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10,000 บาท และต้องเป็นคู่สมรสที่มีการสมรสมาแล้วตลอดปีที่จะใช้ลดหย่อน เช่น หากต้องการนำเบี้ยประกันของคู่สมรสไปลดหย่อนในปีภาษี 2565 ต้องสมรสกันมาแล้วตั้งแต่ต้นปีหรือตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้ หากสมรสระหว่างปี จะไม่สามารถนำเบี้ยมาลดหย่อนได้ สำหรับเงื่อนไขในการนำเบี้ยประกันของคู่สมรสไปลดหย่อนภาษีที่ต้องพิจารณา มีดังนี้

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ซื้อให้กับคู่สมรสต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • กรมธรรม์ต้องทำกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
  • กรณีมีเงินคืนทุกปี ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกัน
  • การจะนำกรมธรรม์ไปลดหย่อนภาษี ผู้เอาประกันจำเป็นต้องแจ้งไปยังบริษัทประกันถึงเจตจำนงค์ในการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษี หากไม่ได้แจ้ง จะนำไปลดหย่อนไม่ได้

นอกจากประกันชีวิตและสุขภาพที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้แล้ว ยังมีประกันประเภทออมทรัพย์และประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

ประกันบำนาญ | ประกันกลุ่ม | รู้ใจ

ประกันบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือประกันบำนาญ จะเป็นการเก็บเงินไว้ใช้ยามหลังจากเกษียณอายุจากการทำงาน วิธีการจ่ายเงินคืนจะไม่เหมือนกับประกันออมทรัพย์ ถ้าให้อธิบายให้เข้าใจแบบภาษาง่าย ๆ ก็คือ สมมติลูกค้าอายุ 35 ปีตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะเกษียณตัวเองตอนอายุ 55 ปี และหลังจากเกษียณแล้วอยากมีเงินบำนาญไว้ใช้เดือนละเท่าไหร่ก็แล้วแต่ลูกค้า และจึงค่อยคิดออกมาเป็นเบี้ยประกันต่อปี ตัวเงินบำนาญทางบริษัทประกันก็จะจ่ายให้ลูกค้าหลังจากที่เกษียณอายุตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ก่อนทำประกัน เป็นต้น

อีกประเด็นสำคัญคือ ประกันแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนภาษี เพิ่มเติมได้อีกจากประกันชีวิตและสุขภาพ ยกตัวอย่าง

  • ใช้กรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพลดหย่อนได้ 100,000 บาทต่อปี
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญนำมาหักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี

การเลือกซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการนำมาลดหย่อนภาษี นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่มีไว้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับเราหลังจากเกษียณอายุ ส่วนเงื่อนไขที่ต้องรู้ก่อนซื้อประกันแบบบำนาญ

  • กรมธรรม์บำนาญต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
  • กรมธรรม์ต้องทำกับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
  • จำเป็นต้องเป็นกรมธรรม์ที่จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดแบบสม่ำเสมอ
  • กรมธรรม์ต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์ตั้งแต่อายุ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น
  • ต้องเป็นการจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนที่เราจะได้รับเงินผลประโยชน์
  • การจะนำกรมธรรม์ไปลดหย่อนภาษี ผู้เอาประกันจำเป็นต้องแจ้งไปยังบริษัทประกันถึงเจตจำนงค์ในการนำเบี้ยไปลดหย่อนภาษี หากไม่ได้แจ้ง จะนำไปลดหย่อนไม่ได้

นอกจากจะซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีแล้ว ลูกค้าควรต้องศึกษาผลประโยชน์ที่มากับกรมธรรม์ประกันที่เลือกซื้อด้วย เพื่อประโยชน์ของตัวลูกค้าเอง เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำประกันก็คือต้องการลดความเสี่ยงทางด้านการเงิน หากเกิดเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้าย

สนใจทำประกันสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษี สามารถเลือกประกันมะเร็ง ประกันโรคร้ายแรง และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้ที่รู้ใจ ประกันออนไลน์ สะดวก ง่าย แค่คลิก! โหลดเอกสารประกอบการลดหย่อนภาษีได้เลยผ่านแอปพลิเคชั่น Roojai Mobile App

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)