Roojai

5 โรคอันตราย ไม่ควรเสี่ยงขับรถ

บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากความประมาทหรือไม่ก็จากเมาแล้วขับ รวมถึงความไม่พร้อมของยานพาหนะ แต่ระยะหลังๆ สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดจากความเจ็บป่วยหรือจากโรคประจำตัว ได้เริ่มเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญและเหมือนว่ากำลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งล้วนก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมการขนส่งทางบกได้ระบุไว้ในระเบียบการขอใบอนุญาตขับขี่จะห้ามเฉพาะ 5 โรค คือ โรคเท้าช้าง, โรควัณโรค, โรคเรื้อน, โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดเหตุได้โดยตรง ส่วนโรคอะไรที่เป็นสาเหตุและเสี่ยงอุบัติเหตุบ้าง วันนี้ทีมงานรู้ใจจึงได้สรุปมาเป็น ‘5 โรคอันตรายไม่ควรเสี่ยงขับรถ’ ให้ผู้อ่านได้ทราบกันครับ

1. โรคลมชัก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าคนทั่วไปประมาณ 7 เท่า โดยผู้ป่วยโรคลมชักแต่ละคนมีโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจราจรแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่มีการชัก ชนิดที่หมดสติหรือล้มลงกับพื้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เพราะมีการสูญเสียการควบคุมสติ จึงส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ แต่ถ้าเป็นการชักเฉพาะส่วนของร่างกายและผู้ป่วยมีสติดี โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็น้อยมาก ปัจจุบันมีหลายคนพยายามเสนอภาครัฐให้ออกกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับรถ ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ดี แต่ก็ใช่ว่าจะทำได้ผล 100% เพราะในการบอกว่าใครเป็นโรคมชักหรือไม่นั้นไม่ง่ายในการบอก ถ้าผู้ป่วยไปพบแพทย์แล้วบอกว่าปกติ ก็จะได้ใบรับรองแพทย์เพื่อนำไปทำใบอนุญาตขับขี่ ทั้งที่จริงแล้วเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะแพทย์ที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วยรายนั้นจะไม่สามารถบอกได้เลยว่า คนๆ นั้นเป็นโรคลมชักหรือไม่

2. หลอดเลือดในสมองแตก โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก หรือเปลี่ยนเกียร์ บางคนมีอาการเกร็งจนขากระตุกเวลาเหยียบคันเร่งหรือเบรก ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้ารับการรักษาด้วยโรคดังกล่าวผ่านสายด่วน 1669 ถึง 9,215 ราย

3. โรคเบาหวานชนิดร้ายแรง ชนิดที่ต้องฉีดอินซูลีน เพราะหากน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีอาการ หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่าเห็นภาพไม่ชัด รู้สึกเหนื่อยง่าย มีอาการชา โดยเฉพาะมือและขา และหนักสุดคือหมดสติ แน่นอนว่าอาการเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการขับขี่และควบคุมรถโดยตรง อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท จะมีอาการชาหรือปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบังคับพวงมาลัย

4. โรคหัวใจ เกิดจากการที่หลอดเลือดเกิดการตีบหรือตันจนเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ตามปกติหรือบางทีอาจถึงขั้นหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจสามารถเริ่มได้ตลอดเวลาทุกช่วงชีวิตหากเราเริ่มละเลยไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับและความเครียด โรคดังกล่าวนี้จะแสดงอาการออกมาได้มากมาย แต่ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถโดยตรง คือ มีอาการหน้ามืด จะเป็นลมตาลาย มองเห็นภาพไม่ชัดเจน หรือการหมดสติชั่วขณะ และวูบหมดสติไปเลย

5. โรคที่เกี่ยวกับสายตา ไม่ว่าจะเป็นต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม โดยในรายของผู้ป่วยที่เป็นต้อหินรู้สึกมัวคล้ายมองผ่านหมอก เห็นภาพซ้อน และมองเห็นแสงกระจาย ขณะขับรถตอนกลางคืน ส่วนผู้ป่วยกระจกจะมีอาการมองไม่ชัด ตาพร่ามัวโดยจะเป็นมาขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า เช่น เมื่อออกแดด แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ เห็นภาพซ้อนแม้ว่าจะมองด้วยตาข้างเดียวเนื่องจากการหักเหของแสงไม่ลงที่จอประสาท หรือเห็นวงรอบแสงไฟ ซึ่งอาการของโรคเกี่ยวกับสายตาล้วนส่งผลต่อประสิทธิภาพการขับรถโดยตรง

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะผู้ต้องใช้รถใช้ถนน ควรหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ซึ่งแน่นอนถ้ารู้ล่วงหน้าว่าเราเริ่มเป็นเข้าข่ายหรือโรคที่เราได้กล่าวถึงในข้างต้นนี้ ย่อมเป็นผลดีเพราะจะได้หาวิธีรักษาอย่างทันท่วงที ที่สำคัญเมื่อรู้แล้วก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ ซึ่งไม่เพียงลดความเสี่ยงให้กับตัวเองแล้วก็ยังมีส่วนลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อีกด้วย ที่สำคัญอย่างลืมให้ ”รู้ใจ” เคียงข้างคุณ