
การรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ซึ่ง “คีโม” (เคมีบำบัด) และ “การฉายแสง” (รังสีบำบัด) เป็นวิธีหลัก ๆ ที่แพทย์เลือกใช้ในการควบคุมหรือกำจัดเซลล์มะเร็ง แม้ว่าทั้งสองวิธีจะมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาโรคมะเร็ง แต่ก็มีหลักการทำงาน วิธีการรักษา และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน บทความนี้พาเจาะลึกทั้งสองวิธีการรักษามะเร็ง
สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!
- การทำคีโมคืออะไร?
- การฉายแสงคืออะไร?
- การฉายแสง VS คีโม เหมาะกับมะเร็งแบบไหน?
- วิธีการรักษามะเร็งอื่น ๆ
- รักษามะเร็งใช้สิทธิรักษาพยาบาลอะไรได้บ้าง?
การทำคีโมคืออะไร?
การทำคีโม (Chemotherapy) คือ การรักษามะเร็งด้วยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กำจัดเซลล์มะเร็ง โดยยาจะถูกส่งผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย ซึ่งทำให้สามารถรักษามะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำ กิน หรือฉีดยาเฉพาะจุด
ผลข้างเคียงของการทำคีโม เช่น
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ผมร่วง
- อ่อนเพลีย
- ภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
การฉายแสงคืออะไร?
การฉายแสง (Radiation Therapy) คือการใช้พลังงานรังสี เช่น รังสีเอกซ์ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมักใช้ในบริเวณที่มะเร็งอยู่เฉพาะที่ มีขอบเขตชัดเจน เช่น เนื้องอกในปอด หรือต่อมน้ำเหลือง
ผลข้างเคียงของการฉายแสง เช่น
- ผิวหนังแดง แสบ หรือมีอาการคล้ายผิวไหม้แดดในบริเวณที่ได้รับรังสี
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- หากฉายแสงบริเวณศีรษะ อาจทำให้ผมร่วง
การฉายแสง VS คีโม เหมาะกับมะเร็งแบบไหน?
การฉายแสงรักษามะเร็ง เหมาะกับ
- มะเร็งระยะแรก ๆ ที่ยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น
- ต้องการทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลือหลังผ่าตัด
- ต้องการลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด (เช่น มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่)
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำคีโมได้ หรือร่างกายไม่แข็งแรงพอสำหรับการใช้ยาเคมี
- ใช้เพื่อบรรเทาอาการ เช่น บรรเทาอาการเจ็บจากมะเร็งกระดูก
การทำคีโมเหมาะกับ
- มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- ต้องการรักษาทั่วทั้งร่างกาย เพราะยาคีโมเข้าสู่กระแสเลือดและไปได้ทุกส่วน
- มะเร็งในระบบเลือดหรือน้ำเหลือง
- ใช้ร่วมกับการฉายแสงหรือการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสหายขาด
- ใช้หลังการผ่าตัดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่
- ใช้ก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง
คีโมและการฉายแสงสามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่?
ได้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้คีโมและการฉายแสงร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เช่น การใช้คีโมเพื่อลดขนาดของมะเร็งก่อนการฉายแสง หรือการใช้คีโมหลังการฉายแสงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจเหลืออยู่
มีวิธีการรักษามะเร็งอื่น ๆ นอกเหนือจากคีโมและการฉายแสงหรือไม่?
นอกจากการทำคีโมและการฉายแสงรักษามะเร็งแล้ว ยังมีเทคโนโลยีการรักษามะเร็งอื่น ๆ อีก ตัวอย่างเช่น
1. การผ่าตัด
เป็นวิธีที่ใช้กันมากโดยเฉพาะในมะเร็งระยะต้น ๆ เพื่อตัดเอาก้อนเนื้องอกหรือเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งออกจากร่างกาย เหมาะกับมะเร็งที่ยังไม่แพร่กระจาย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยต้องแข็งแรงพอจะเข้ารับการผ่าตัด
2. การบำบัดด้วยฮอร์โมน (Hormone Therapy)
ใช้ได้กับมะเร็งบางชนิดที่ฮอร์โมนเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยการบำบัดด้วยฮอร์โมนจะปรับระดับหรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน หรือ เทสโทสเทอโรน ช่วยชะลอหรือหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งจากฮอร์โมน เหมาะกับมะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งต่อมลูกหมาก
3. ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็ง เรียกว่าเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันของตัวเราเองในการกำจัดเซลล์มะเร็ง ใช้ในการรักษามะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งไต เป็นต้น
รักษามะเร็งใช้สิทธิรักษาพยาบาลอะไรได้บ้าง?
หากตรวจพบมะเร็ง และไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีประกันโรคร้ายแรงเลย สิทธิ์การรักษาพยาบาลพื้นฐานจะช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายในการรักษามะเร็งได้ ดังนี้
สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคม
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 หากตรวจวินิจฉัยพบว่าเป็นมะเร็งสามารถรักษาฟรี ครอบคลุมมะเร็ง 20 ชนิด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา เมื่อเข้ารับการรักษาตามแนวทางที่กำหนด
หากไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด และจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยารักษา และหรือเคมีบำบัด และหรือรังสีรักษา สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
สิทธิบัตรทองหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สามารถเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยมีนโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ ซึ่งครอบคลุม 7 รายการ
- ค่ายาเคมีบำบัด/ฮอร์โมน
- ค่ารังสีรักษา
- ค่าตรวจห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่เกี่ยวกับการใช้ยา จ(2)
- การรักษาโรคแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็ง
- การตรวจยืนยันการวินิจฉัย/การประเมินระยะโรค/การประเมินการรักษา
- โรคร่วมอื่น ๆ ในช่วงที่รักษามะเร็ง
- การติดตามหลังการรักษามะเร็ง
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับสปสช.ที่ 1330 สายด่วน สปสช., ไลน์ไอดี @nhso, และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ที่มา: สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
วิธีการรักษามะเร็งจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรงของผู้ป่วย ชนิดมะเร็ง ระยะมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งแพทย์จะหาทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคุณ สิ่งที่ทำได้คือการวางแผนรับมือในวันที่เป็นมะเร็ง เพื่อเข้าถึงการรักษาที่ดีและทันท่วงที เพราะค่าใช้จ่ายและค่ารักษาในการทำคีโมหรือฉายแสงรักษามะเร็ง โดยรวมแล้วอาจแตะถึงหลักแสนหรือล้านบาท การทำประกันมะเร็งติดไว้ จะช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายในวันที่คุณป่วยโรคร้าย และอย่าลืมศึกษาเงื่อนไขและความคุ้มครองตามที่กรมธรรม์กำหนดก่อนตัดสินใจทำประกันเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่คลอบคลุม
สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)
คำจำกัดความ
สิทธิรักษาพยาบาล | สิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนไทยทุกคนมี เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบหลัก คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง/30 บาท) |
รังสีเอกซ์ | คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีพลังงานสูงและความยาวคลื่นสั้น (ประมาณ 0.01–10 นาโนเมตร) ซึ่งสามารถทะลุผ่านวัตถุได้บางประเภท เช่น เนื้อเยื่อในร่างกายของคน แต่ไม่สามารถทะลุกระดูกได้ จึงถูกนำมาใช้ในการถ่ายภาพทางการแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกาย |