Roojai

อาการขาบวม/เท้าบวม อาจบอกถึงโรคเบาหวานหรือโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง?

อาการขาบวม/เท้าบวม บอกถึงโรคเบาหวานหรือโรคมะเร็งชนิดใด

อวัยวะสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งในร่างกายของคนเราคือ “เท้า” เท้าของเราเริ่มทำงานตั้งแต่เราตื่นนอน พาเราเดินไปห้องน้ำ พาเราเดินไปห้องครัว พาเราเดินไปในที่ต่าง ๆ โดยที่ต้องแบกน้ำหนักของร่างกายเราไปในทุก ๆ ที่ ทั้งยืน วิ่ง หรือเดิน และดูเหมือนกับว่า “เท้า” จะเป็นสิ่งสุดท้ายในร่างกายที่คนส่วนใหญ่จะดูแล

หลาย ๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่าเท้าของคนเรานั้น เป็นจุดศูนย์รวมของเส้นประสาทต่าง ๆ ในร่างกาย เท้าสามารถบอกได้ว่าตอนนี้ ตับ ไต ไส้ พุง หรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของเราสมบูรณ์ปกติดี หรือมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย รู้ใจจะมาเล่าถึงอาการขาบวมหรือเท้าบวม ว่ามีความผิดปกติในส่วนใดของร่างกายซ่อนอยู่ อาจเป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ หรือโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง ไปดูพร้อมกันเลย

ขาบวม/เท้าบวม อาการเป็นอย่างไร และสาเหตุเกิดจากอะไร?

อาการขาบวมและเท้าบวม คือ อาการบวมที่เท้าตั้งแต่เท้าไปถึงข้อเท้าและหน้าแข้ง โดยอาการเท้าบวมจะบวมเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือในบางกรณีเท้าอาจบวมทั้ง 2 ข้างก็ได้ มาดูกันว่าสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เท้าของเราเกิดอาการบวมได้

  1. ใช้เท้ายืนเป็นเวลานาน
  2. รับประทานอาหารที่มีโซเดียมเยอะเกินปริมาณที่ร่างกายรับได้
  3. อาการข้างเคียงจากการทานยา
  4. น้ำหนักเยอะเกินไป
  5. อยู่ในภาวะตั้งครรภ์
  6. มีอาการบาดเจ็บที่เท้า
  7. ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง

นอกเหนือจาก 7 สาเหตุข้างต้นที่ทำให้เท้าของเราบวมได้แล้ว การบวมของเท้ายังสามารถบ่งชี้โรคร้ายได้อีกด้วย

อาการของขาบวม/เท้าบวม สาเหตุเกิดจากอะไร

อาการขาบวม/เท้าบวม บ่งบอกถึงโรคร้ายอะไรได้บ้าง?

1.ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้มากที่สุดจากอาการขาบวม/เท้าบวม เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว มักเกิดอาการบวมน้ำที่ขาส่วนล่างบริเวณข้อเท้า และเท้า

การรักษา – ภาวะหัวใจล้มเหลวไม่มีการรักษา แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เลี่ยงอาหารโซเดียมสูง และเพิ่มการออกกำลังกาย
  • รับประทานยา เช่น Beta-blockers เป็นยาที่ช่วยลดระดับความเครียดในหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังสามารถช่วยจัดการกับการปวดหัวไมเกรน ความวิตกกังวล และอาการอื่น ๆ ได้อีกด้วย
  • เข้ารับการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ จะช่วยทำให้การสูบฉีดเลือดกลับมาใช้งานได้ตามปกติอีกครั้ง
  • การผ่าตัดใส่ LVAD ที่หัวใจห้องล่างซ้าย การผ่าตัดใส่เครื่อง LVAD นี้จะช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

2.โรคตับ

ตับมีหน้าที่ผลิตอัลบูมินหรือโปรตีนไข่ขาว ซึ่งโปรตีนนี้มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ของเหลวไหลออกจากหลอดเลือดเข้าสู่เนื้อเยื่อรอบข้าง เมื่อเกิดความผิดปกติของตับในร่างกายเรา จะส่งผลให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนได้เพียงพอ ทำให้เกิดของเหลวสะสมอยู่ที่ขา ข้อเท้า และเท้า ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับมักจะไม่ค่อยรู้ตัวเพราะโรคตับไม่แสดงอาการ จะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่ตับถูกทำลายอย่างรุนแรงหรือที่เรารู้จักกันดีใน “โรคตับแข็ง”

การรักษา – การรักษามีวิธีเดียวเท่านั้น คือ ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ถ้ามีอาการขาบวมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคตับแข็ง คุณหมออาจสั่งยาขับปัสสาวะจำพวก Spironolactone มาให้รับประทานร่วมกับการเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง

3.โรคไต

หน้าที่หลักของไต คือควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายและปรับระดับเกลือและแร่ธาตุอื่น ๆ ในเลือดให้มีความสมดุล เมื่อไตทำงานผิดปกติจะส่งผลให้ไตไม่สามารถฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถขับของเหลวและของเสียอื่น ๆ ออกจากร่างกายได้ จึงเป็นสาเหตุให้ร่างกายของเราสะสมของเสียที่บริเวณขาและเท้าของเรา ซึ่งอาการของไตเเรกเริ่มเราจะสามารถสังเกตุได้จากมือบวม ขาบวม เท้าบวม ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ความดันโลหิตสูง ถ้ามีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คให้ละเอียดดีกว่า

การรักษา – การรักษาโรคไต คุณหมอจะรักษาตามอาการเป็นหลัก หากเป็นภาวะแรกเริ่ม เช่น มีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการของโรคเบาหวานระยะแรก คุณหมอจะสั่งยาเบาหวานให้ทานรักษาตามอาการ ส่วนในกรณีที่เป็นไตวายเรื้อรัง จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกไต แต่ถ้ามีอาการของโรคเบาหวานรุนแรงอาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดเปลี่ยนไต

ขาบวม/เท้าบวม อาจเป็นโรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ

4.อาการติดเชื้อ

เกิดการติดเชื้อที่มีชื่อว่า “เซลลูไลติส” เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังชั้นลึก รวมถึงเนื้อเยื่อไขมันและเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ด้านล่าง ทำให้เกิดอาการขาบวมหรือเท้าบวม จะพบมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

การรักษา – การรักษาจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อ ถ้าไม่ได้รุนแรงมากคุณหมอจะสั่งยามาให้รับประทาน หากติดเชื้อรุนแรงอาจต้องทำการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อบริเวณนั้นออก ดังนั้น ผู้ปวยที่เป็นโรคเบาหวานจะต้องให้ความใส่ใจในเรื่องแผลฟกช้ำ รอยถลอกต่าง ๆ เป็นพิเศษ

5.เส้นเลือดดำอุดตันที่ขา

เส้นเลือดที่ขาจะมีวาล์วที่ป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ การที่เส้นเลือดดำอุดตันจะส่งผลให้ไม่สามารถลำเลียงเลือดขึ้นไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเลือดไม่สามารถผ่านขึ้นไปที่หัวใจได้ จะทำให้เลือดติดอยู่บริเวณขาและข้อเท้าส่วนล่าง อาจทำให้มีแผลที่ผิวหนังบริเวณนั้น สีของผิวเปลี่ยนไป

การรักษา – ออกกำลังกาย ยกขาขึ้นที่สูง พยายามเลี่ยงการนั่งไขว้ขาทั้งตอนนั่งและนอน

6.เกิดจากผลข้างเคียงของยา

การรับประทานยาบางชนิดอาจทำให้ข้อเท้าหรือขาบวมได้ เช่น ยารักษาเบาหวาน ฮอร์โมนเอสโตรเจน สเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท และแคลเซียม

การรักษา – หากมีอาการข้างเคียงจากการทานยาที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ลดปริมาณยาหรือเปลี่ยนตัวยา

7.เกิดอาการเท้าบวมสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งบางชนิดอาจทำให้บวมตามร่างกายได้ เช่น บวมที่หน้าท้อง แขนบวม ขาบวม และเท้าบวม การรักษาโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุของอาการบวมเหล่านี้ ได้แก่ การทำเคมีบำบัด การผ่าตัดมะเร็ง รังสีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด ยาแก้ปวดบางชนิด และสเตียรอยด์

อาการขาบวมและเท้าบวม อาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินมากเกินไป ยืนเป็นเวลานาน ก็สามารถทำให้เกิดอาการขาบวมและเท้าบวมได้ แต่หากเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาการบวมโดยไม่ทราบสาเหตุนั้นอาจนำไปสู่โรคร้ายและเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอกจากดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแล้ว การดูแลสุขภาพทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรให้ความใส่ใจ เพราะเหตุไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา หากคุณกำลังมองหาประกันสุขภาพที่ซื้อง่าย ราคาดี และเชื่อถือได้ ที่รู้ใจ ประกันออนไลน์ เรามีแผนประกันภัยให้คุณเลือกมากมาย ทั้งประกันมะเร็ง ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมถึงประกันรถยนต์และประกันบิ๊กไบค์อีกด้วย สามารถดูรายละเอียดและเลือกปรับแผนของคุณได้ตลอด 24 ชม.เลย

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เรื่องรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจ ประกันออนไลน์ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai