Roojai

ทุพพลภาพในประกันภัย คืออะไร? มีกี่แบบและแตกต่างกันยังไง?

Article Roojai Verified
อธิบายความหมายของ "ทุพพลภาพ" ในกรมธรรม์ประกันภัย | รู้ใจ

การทำความเข้าใจว่าทุพพลภาพมีอะไรบ้างในประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีหลายแบบที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงและผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้เอาประกัน วันนี้รู้ใจจะพาคุณไปดูว่าทุพพลภาพในประกันภัยคืออะไร มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้คุณสามารถเลือกประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการและสถานการณ์ของคุณได้

สนใจอ่านแค่บางเรื่อง ก็เลือกได้เลย!

ทุพพลภาพ คืออะไร?

ในโลกของการประกันภัย ทุพพลภาพมีหลายแบบ เช่น ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุพพลภาพถาวรบางส่วน ทุพพลภาพชั่วคราวแบบสิ้นเชิง ฯลฯ ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุรถชน การบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย ซึ่งรู้ใจหาคำตอบและอธิบายความแตกต่างของการทุพพลภาพไว้ในเนื้อหาด้านล่างนี้

ความหมายของทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง | รู้ใจ

ทุพพลภาพกับพิการ ต่างกันอย่างไร?

คำว่า “ทุพพลภาพ” และ “พิการ” มีความหมายที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

ทุพพลภาพ หมายถึง การหย่อนกําลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปกติได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร

พิการ หมายถึง การสูญเสียทางร่างกายหรือจิตใจจากสภาพเดิม ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

Tips: คนพิการทำประกันได้มั้ย?

คนพิการสามารถทำประกันบางประเภทได้ เช่น ประกันชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกันภัย และแนะนำว่าในขั้นตอนการให้ข้อมูลก่อนทำประกัน ให้ตอบทุกคำถามตามความเป็นจริง รวมทั้งอาการพิการ ทุพพลภาพ โรคประจำตัว และข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้บริษัทพิจารณาว่ายินดีที่จะรับประกันภัยหรือไม่ รวมถึงสอบถามอย่างตรงไปตรงมาว่าส่วนไหนที่ให้หรือไม่ให้ความคุ้มครอง และศึกษารายละเอียดก่อนทำประกันภัยทุกครั้ง

ประเภทของทุพพลภาพ มีอะไรบ้าง?

การแบ่งประเภทของบุคคลทุพพลภาพ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทดังต่อไปนี้

1. ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง

ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง หมายถึง การทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ในอาชีพประจํา และอาชีพอื่น ๆ ได้เลย โดยสิ้นเชิงตลอดไป หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจําวัน ตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไปได้ ด้วยตนเอง

โดยการทำกิจวัตรประจําวันในที่นี้ หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจหลักประจําวันของคนปกติ ซึ่งมี 6 ชนิด ตามเกณฑ์ทางการแพทย์ในการประเมินผู้ป่วยที่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้ ดังนี้

  1. ความสามารถในการเคลื่อนย้าย เช่น ความสามารถในการเคลื่อนย้ายจากเก้าอี้ ไปกลับเตียงได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
  2. ความสามารถในการเดินหรือเคลื่อนที่ เช่น ความสามารถในการเดิน หรือเคลื่อนที่จากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
  3. ความสามารถในการแต่งกาย เช่น ความสามารถในการสวมหรือถอดเสื้อผ้า ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
  4. ความสามารถในการอาบนํ้าชําระร่างกาย เช่น ความสามารถในการอาบนํ้า รวมถึงการเข้าและออกจากห้องอาบนํ้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
  5. ความสามารถในการรับประทานอาหาร เช่น ความสามารถในการทานอาหารได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย
  6. ความสามารถในการขับถ่าย เช่น ความสามารถในการใช้ห้องนํ้าเพื่อขับถ่าย รวมถึงการเข้าและออกจากห้องนํ้าได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นหรือใช้อุปกรณ์ช่วย

2. ทุพพลภาพถาวรบางส่วน

ทุพพลภาพถาวรบางส่วน หมายถึง ทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานใด ๆ ในอาชีพประจํา ตามปกติได้ตลอดไป แต่ยังสามารถทํางานอื่นเพื่อสินจ้างได้

3. ทุพพลภาพชั่วคราวแบบสิ้นเชิง

ทุพพลภาพชั่วคราวแบบสิ้นเชิง หมายถึง การทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพประจํา ตามปกติได้โดยสิ้นเชิงในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากได้รับการรักษาจนหายและสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ เช่น การที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาต้องเข้าเฝือก ไม่สามารถเดินเหินได้สะดวก แต่หลังจาก 3 เดือน ก็จะสามารถกลับไปทำงานเดิมได้

4. ทุพพลภาพชั่วคราวแบบบางส่วน

ทุพพลภาพชั่วคราวแบบบางส่วน หมายถึง ทุพพลภาพถึงขนาดไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพประจําตามปกติ ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นผลต่อเนื่องจากทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง ซึ่งได้ทุเลาเบาบางลงแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพประจําตามปกติได้ครบทุกส่วนในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากที่ทำการรักษาจนหายแล้ว สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ

ความหมายของทุพพลภาพถาวรบางส่วน | รู้ใจ

ทุพพลภาพสำคัญยังไงในโลกของประกัน?

คำว่า ทุพพลภาพ ในโลกของประกันมีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองและการชดเชยที่ผู้ทำประกันจะได้รับเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย โดยเรามักพบคำว่า ทุพพลภาพ ในประกันภัยประเภทต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

  1. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ มักจะมีคำว่าทุพพลภาพอยู่ เช่น
    • ประกันอุบัติเหตุ แบบ อ.บ.1 จะให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
    • ประกันอุบัติเหตุ แบบ อ.บ.2 ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตาการรับฟังเสียง การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง
  2. พ.ร.บ. รถยนต์ เป็นประกันภัยที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งต้องทำติดไว้ โดยพ.ร.บ.รถยนต์จะคุ้มครองในกรณีทุพพลภาพ ดังนี้
    • เงินค่าเสียหายเบื้องต้นเบื้องต้น (ไม่ต้องมีการพิสูจน์ถูกหรือผิด) เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 35,000 บาท
    • ค่าสินไหมทดแทน (รับหลังจากพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝ่ายถูก) หากสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร ได้รับค่าทดแทน 200,000-500,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับลักษณะการสูญเสียและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด

การทำประกันภัยทุกประเภทควรศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดก่อนตกลงทำประกันทุกครั้ง หากมีข้อสงสัยหรือติดใจส่วนไหนแนะนำให้สอบถามกับทางบริษัทประกันภัยโดยตรงเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จากนั้นเลือกประกันที่ตอบโจทย์ที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับเราในฐานะคนซื้อประกัน

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้ เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ด้านสุขภาพ รวมถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประกันภัยต่าง ๆ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือเพิ่มเพื่อนทาง LINE ได้เลย (Official LINE ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ค่าสินไหมทดแทน สิ่งที่ให้หรือการกระทำที่ทำ เพื่อชดใช้หรือทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินหรือบุคคล อันเนื่องมาจากการละเมิดหรือการผิดสัญญา รวมทั้งการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายด้วย
ผู้รับผลประโยชน์ คือบุคคลที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ สามารถเลือกได้หลายคน กำหนดสัดส่วนที่ต่างกันได้ โดยผู้เอาประกันสามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับผลประโยชน์โดยแจ้งความประสงค์ต่อบริษัทประกันภัย พร้อมแนบเอกสารประกอบ หากไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ในกรมธรรม์ ผลประโยชน์จะตกเป็นของทายาทโดยธรรมตามลำดับขั้นที่กฎหมายกำหนดไว้
previous article
< บทความก่อนหน้า

รู้ทัน! มิจฉาชีพหลอกลวงเป็นตัวแทนหรือโบรคเกอร์นายหน้าประกันภัย