Roojai

ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙ รวมสถานที่ที่ท่านเคยประพาส

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์ ท่านทรงงานโดยมิได้ว่างเว้น เสด็จเยี่ยมเยือนประชาชนทั่วทุกภาคในประเทศ แม้จะเป็นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารเพียงใด ท่านก็ไม่ทรงย่อท้อ พัฒนาพื้นที่จากที่ดินแห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก เสมอมา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรของพระองค์มาตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แม้ในระยะนั้น ถนนหนทางไปมายังไม่สู้สะดวกนัก แต่ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนพสกนิกรทั่วภูมิภาคของประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2498

หลังจากนั้น ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนมิตรประเทศอย่างเป็นทางการในทวีปอเมริกาในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ถึง 14 ประเทศ ซึ่งการเสด็จฯ ทรงเยือนประเทศต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับว่าเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะประเทศต่างๆ จะรักใคร่กันดีก็ต้องอาศัยประมุขของแต่ละชาติมีความสัมพันธ์กันเป็นรากฐาน ก่อนหน้าจะเด็จประพาสอเมริกา-ยุโรปครั้งนั้น ยังได้เสด็จฯ ไปทรงเยือนประเทศเวียดนามใต้ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศพม่ามาแล้ว แต่ก็เป็นการเสด็จฯ ในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก ส่วนการเสด็จประพาสอเมริกา-ยุโรปครั้งนั้น ทรงใช้เวลาถึง 7 เดือน นับได้ว่าเป็นการเสด็จประพาสที่ใช้ระยะเวลายาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับการเสด็จประพาสในประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพลิกฟิ้นผืนดิน และวิถีชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยขอยกตัวอย่างให้เห็นกัน 3 สถานที่

โครงการหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ว่า “ให้ช่วยเขา ช่วยตัวเอง” มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงมีพระราชดำริว่า พื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทรงทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่งทำการทดลองปลูก

อ่างขาง

จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ไม้ผล กว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด เป็นถิ่นที่อยู่ของ ชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” เป็นโครงการส่วนพระองค์ ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ทดแทนฝิ่น เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำอย่างเป็นระบบ

อ่างขาง

ภายหลังโครงการนี้ได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็น “โครงการหลวง” ซึ่งเป็นรู้จักอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้ และทรงได้พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

โครงการหลวงแห่งแรก “ดอยอ่างขาง” อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,989 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านขอบด้ง บ้านผาแดง บ้านสินชัย และบ้านถ้ำง๊อบ ซึ่งประกอบไปด้วยประชากร จำนวน 4 เผ่า อันได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และ จีนยูนนาน

ชมภาพที่เกี่ยวข้องกับดอยอ่างขางได้จาก google >> http://bit.ly/2fcrcrd

บ้านนาแก จ.นครพนม

เช่นเดียวกันกับพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม นับเป็นอีกอำเภอประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัดนครพนม และพสกนิกรชาวไทย เนื่องจากเป็นดินแดนถิ่นสหาย ที่เคยเป็นพื้นที่สีแดง ฐานที่มั่นสำคัญของการเคลื่อนไหวกองทัพประชาชนในฐานะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีการตั้งฐานที่มั่นเคลื่อนไหวต่อสู้บนเทือกเขาภูพานน้อย ในพื้นที่ 3 จังหวัด มี นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร หรือที่ ถูกเรียกว่ากลุ่มสหายดาวแดง ที่มาจากสาเหตุของการแตกแยกความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และแฝงด้วยการแย่งชิงอำนาจเพื่อการปกครองทางบ้านเมือง ทำให้ประชาชนถูกกดขี่จากอำนาจรัฐ ก่อนตัดสินใจเข้าป่าถืออาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ จนเกิดการต่อสู้สูญเสียเลือดเนื้อชีวิตทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ปี 2508 โดยมีการต่อสู้ยืดเยื้อเป็นเวลากว่า 20 ปี ก่อนจะมาถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดของประชาชนชาวไทย

บ้านนาแก

กระทั่งในที่สุดเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2516 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย จึงได้เสด็จฯเยี่ยมหน่วยทหาร ภายในฐานปฏิบัติการภูพานน้อย พร้อมได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ให้ทหาร โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำแนวทางการพัฒนารวมถึงการรู้รักสามัคคีปรองดอง และให้การช่วยเหลือประชาชน มาแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการพระราชดำริเป็นที่มาของการเกิดคำสั่ง 66/2523 และประสบความสำเร็จทำให้กองทัพกลุ่มสหาย ยอมวางอาวุธออกจากป่า และหันมาร่วมมือในการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้การช่วยเหลือในเรื่องของที่ดินทำกิน รวมถึงการสงเสริมอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีความอยู่ดีกินดี

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอนุสรณ์สถานแห่งความสงบ ภูพานน้อย เมื่อวันที่ 26 พ.ย.2543 บริเวณฐานทัพภูพานน้อย บ้านดอนพัฒนา ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงสงบลง

บ้านนาแก

นอกจากนี้ยังเป็นอนุสรณ์สถาน ไว้เป็นที่เตือนใจของชาวไทย ให้มีความรู้รัก สามัคคี มาถึงปัจจุบัน ภายใต้พระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ต้องการให้คนไทยรู้จักการให้อภัยปรองดอง อะลุ้มอล่วยซึ่งกันและกัน พร้อมได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติการทางจิตวิทยา ช่วยเหลือประชาชนเป็นครั้งแรก ทำให้เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร น้อมนำมาเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ส่งผลให้พื้นที่ภาคอีสานเกิดความสงบร่มเย็นภายใต้พระบารมีแห่งพระองค์มาถึงปัจจุบัน

ล่าสุดทาง อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ได้มีการพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยว และเชิญชวนพสกนิกรชาวไทย ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ รวมถึงรำลึกประวัติศาสตร์เส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพอเพียง นำเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ให้พสกนิกรในพื้นที่

นอกจากนี้มีการก่อสร้างจำลอง ปืนใหญ่เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่เคยต่อสู้เกิดสงครามประชาชน และได้ขอสนับสนุนงบประมาณพัฒนาจังหวัด ทำการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานแห่งความสงบภูพานน้อย และอาคารอเนกประสงค์ ไว้รวบรวมประวัติศาสตร์ เรื่องราวความเป็นมา รวมถึงประวัติศาสตร์เส้นทางเสด็จ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการก่อสร้างบ้านพักโฮมสเตย์ ไว้รองรับประชาชน นักท่องเที่ยว

ชมภาพที่เกี่ยวข้องกับบ้านนาแกได้จาก google >> http://bit.ly/2dXGEeF

อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี

อ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ก่อตั้งขึ้นที่ ม.4 ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวที่เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล ในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการด้วย

อ่าวคุ้งกระเบน

จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาความเหมาะสมจึงกำหนดพื้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาสาธิต และการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงานเพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสมและยั่งยืนตลอดไป

อ่าวคุ้งกระเบน

ในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้จัดสรรพื้นที่เสื่อมโทรมหลังป่าชายเลน จำนวน 728 ไร่ สำหรับ 113 ครัวเรือน เข้าประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงกุ้งกุลาดำป้องกันมลภาวะ และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างบ่อเก็บตะกอนเลน และปลูกป่าชายเลนหลังแปลงนากุ้งของตนเอง ตลอดจนการให้บริการวิชาการด้านคลินิกโรคสัตว์น้ำและการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและดิน อนุรักษ์ป่าชายเลนที่สมบูรณ์จำนวน 1,200 ไร่ รอบอ่าวคุ้งกระเบน และป่าบกบนเขาต่างๆ ให้คงอยู่และอุดมสมบูรณ์ตลอดไป โดยการให้ความรู้แก่ราษฎรในโครงการฯ พร้อมทั้งศึกษาวิจัยระบบนิเวศน์ป่าไม้และออกตรวจตราปราบปราม จัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนยาวประมาณ 1,790 เมตร ลดเลี้ยวเข้าไปในป่าชายเลน เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านระบบนิเวศวิทยาป่าชายเลนในรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” แก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป

ชมภาพที่เกี่ยวข้องกับอ่าวคุ้งกระเบนได้จาก google >> http://bit.ly/2fcp5DP

และนี่ก็เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งที่พระองค์ประพาสและพัฒนาพื้นที่เหล่านี้ให้กลายเป็นแหล่งอาชีพและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงธรรมชาติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง, travel.mthai.com, www.thairath.co.th, www.siamrath.co.th และ www.prachachat.net/