Roojai

อายุเท่านี้ โรคมะเร็งชนิดไหนที่ควรระวัง

โรคมะเร็ง | มะเร็ง | รู้ใจ

คนส่วนใหญ่มักจะคิดเอาเองว่าโรคมะเร็งจะเกิดกับคนที่มีอายุมาก ๆ เท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่าโรคมะเร็งหรือโรคร้ายต่าง ๆ นานานั้น “ไม่เลือกอายุ” ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นมะเร็งได้ทุกช่วงอายุ รู้ใจอยากจะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นสาระเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่เราควรเฝ้าระวังในแต่ละช่วงอายุมาฝากกันในบทความนี้ 

เรามักจะพูดถึงสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเกือบทุกครั้งในการเริ่มบทความ และโรคมะเร็งก็ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยไม่เปลี่ยนแปลง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด ยังคงเป็นโรคมะเร็งลำดับต้น ๆ ของหญิงชายในไทย สิ่งที่พวกเราทำได้ก็คือ การให้ความรู้ การเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่นเดียวกันในวันนี้ เรานำข้อมูลที่มีประโยชน์เกี่ยวกับมะเร็งในแต่ละช่วงอายุมาบอกเล่าให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน รู้ก่อน ป้องกันได้ และจะได้ลดการสูญเสียคนในครอบครัวด้วยโรคมะเร็ง

เด็ก | มะเร็งในเด็ก | รู้ใจ

โรคมะเร็งในวัยเด็ก เริ่มต้นด้วยช่วงวัยแรกของชีวิตคือวัยเด็ก ในวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี มะเร็งที่มักพบมากในช่วงวัยนี้มีด้วยกัน 5 ชนิด คือ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน

เป็นชนิดมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยมักแสดงอาการ เช่นมีไข้ ตัวซีด ตับและม้ามโต ปวดตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองโต อัณฑะข้างใดข้างหนึ่งโต (ในเด็กผู้ชาย) มะเร็งชนิดนี้มักจะพบในเด็กอายุ 2-5 ปี

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็ก

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ปัจจุบันการรักษาจะใช้เคมีบำบัด ซึ่งจะให้เป็นชุดต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • ชนิด Acute Lymphoblastic Leukemia หรือ ALL ใช้เวลารักษาประมาณ 2-3 ปี 
  • ชนิด Acute Myeloid Luekemia หรือ AML ใข้เวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน

แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากผู้ป่วยไม่สามารถทำให้โรคสงบได้ ในการกลับมาเป็นซ้ำจะต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก สามารถใช้ไขกระดูกจากพ่อหรือแม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอเซลล์ต้นกำเนิด

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non Hodgkin

โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ น้ำหนักลง อ่อนเพลีย มีเหงื่อออกมากเวลากลางคืน ต่อมน้ำเหลืองตามร่างกายโต และในบางรายอาจตรวจหรือคลำเจอก้อนที่ช่องทรวงอก ก้อนในช่องท้อง และยังมีอาการตับและม้ามโตร่วมด้วย

การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็ก

การรักษาหลัก ๆ จะเป็นการใช้เคมีบำบัดและฉายรังสี ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยถึงระยะของโรคและวิธีการรักษา ซึ่งปัจจุบันนีัการรักษามีโอกาสรอดชีวิตถึง 70-95% 

มะเร็งในระบบประสาทส่วนกลางในเด็ก

อาการของมะเร็งที่ประสาทส่วนกลางในเด็กจะมีอาการเดินเซ ปวดศีรษะ ศีระษะโตผิดปกติ ซึ่งอาการศีรษะโตขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค มีอาการอาเจียนรุนแรง มีความผิดปกติในการมองเห็น บางรายมีอาการชักร่วมด้วย มักพบในเด็กอายุ 1-4 ปี 

การรักษามะเร็งในระบบประสาทส่วนกลางในเด็ก

การรักษาหลัก ๆ คือ การผ่าตัดและให้เคมีบำบัด ร่วมกับการฉายรังสี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งของเซลล์มะเร็งด้วย

มะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก

สามารถพบมะเร็งชนิดนี้ได้ในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี โดยอาการที่แสดงคือจะมีก้อนในช่องท้อง และมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตัวซีด อ่อนแรง ปวดตามร่างกายหรือกระดูก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ในบางรายที่ก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาทไขสันหลังจะมีอาการแขนขาอ่อนแรงด้วย 

การรักษามะเร็งต่อมหมวกไตและปมประสาทซิมพาเทติก 

รักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด และฉายรังสี โดยประสิทธิภาพในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระยะของมะเร็งในขณะนั้น หากตรวจพบในระยะแรก ๆ ที่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ ก็มีทางรักษาให้หายได้ 

มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ในเด็ก

ช่วงอายุที่มักพบมะเร็งชนิดนี้จะอยู่ที่ 1-4 ปีและ 15-19 ปี โดยอาการในเด็กเล็ก 1-4 ปี จะมีก้อนบริเวณช่องท้องและก้นกบ ส่วนในวัย 15-19 ปีช่วงวัยรุ่นนี้จะมีอาการเจอก้อนที่ต่อมเพศ เช่น ลูกอัณฑะ รังไข่ และอาจส่งผลให้เกิดอาการที่เรียกว่า “เป็นหนุ่มสาวก่อนวัย” เมื่อโรคเกิดที่ต่อมไพเนียลในสมองที่เป็นต่อมควบคุมความเป็นหนุ่มสาว หรือหากโรคเกิดในช่องอกอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก

การรักษามะเร็งที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ในเด็ก

การรักษาจะทำโดยวิธีการใช้เคมีบำบัด ฉายรังสี และการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก

มะเร็งตับ | มะเร็งปอด | รู้ใจ

โรคมะเร็งในวัยทำงาน ในวัยทำงานนอกจากโรคออฟฟิศซินโดรมที่เป็นโรคยอดฮิตแล้ว โรคมะเร็งก็ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนวัยทำงานต้องเฝ้าระวังเช่นกัน  ซึ่งโรคมะเร็งที่เกิดในวัยทำงานมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน หรือทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ เรามาดูกันว่ามะเร็งที่คนวัยทำงานจำเป็นต้องเฝ้าระวังมีอะไรบ้าง 

มะเร็งตับ

สำหรับชาวออฟฟิศที่ Work Hard, Play Harder ทำงานหนักแล้วต้องสังสรรค์ปาร์ตี้ให้หนักกว่าตอนทำงาน ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ๆ และบ่อย หรือแทบจะดื่มทุกวันหลักเลิกงาน คนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงเป็นโรคตับแข็งและอาจเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด จะพบได้บ่อยในช่วงอายุ 30-60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสาเหตุมักจะเกิดจาก การดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือในวัยทำงานที่ไม่กินผักหรือกินแต่น้อย เน้นฟาสต์ฟู้ดทุกวัน ก็อาจจะนำพาไปสู่การเป็นโรคมะเร็งตับได้ 

มะเร็งปอด

เมื่อมีการปาร์ตี้สังสรรค์ให้เท่ากับการทำงานหนัก การดื่มก็มักจะมาคู่กับการสูบบุหรี่ และแน่นอนว่ามันนำมาซึ่งการเป็นมะเร็งปอดได้ในที่สุด มะเร็งปอดที่พบบ่อยในวัยทำงานมักจะมาจากสาเหตุ เช่น ความเครียดในการทำงาน การปาร์ตี้สังสรรค์ เป็นต้น สารในบุหรี่ที่ชื่อ ทาร์ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด เมื่อทาร์เข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของปอด แม้กระทั่งเราไม่ได้เป็นคนสูบเอง แต่ได้กลิ่นควันบุหรี่จากเพื่อนในที่ทำงาน ก็อาจทำให้เราเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน 

อีกสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดก็คือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับสารเคมี หรืออุตสาหกรรม มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เมื่อสารพิษสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้กลายเป็นมะเร็งปอดได้ในที่สุด

มะเร็งเต้านม | มะเร็งปากมดลูก | รู้ใจ

มะเร็งปากมดลูก

มักพบได้ในผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป สามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจเจอในระยะแรก ๆ แต่ยังถือเป็นมะเร็งที่มีการเกิดได้บ่อยในวัยทำงาน อาการคือ มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อที่บริเวณมดลูก ช่องคลอด หรือปากมดลูก สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี กินยาเร่งฮอร์โมน สูบบุหรี่เป็นประจำหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะนำให้เริ่มตรวจหามะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำหรือต่อมน้ำนมที่ได้รับผลกระทบจากสารก่อมะเร็ง มักจะพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป สาเหตุอื่น ๆ ที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ประจำเดือนมาตั้งแต่อายุยังน้อย มีบุตรยาก ได้รับสารรังสีบางอย่าง การใช้ยากระตุัมฮอร์โมนมากเกินกว่า 10 ปี หรือปล่อยให้อ้วนจนเกินไป

มะเร็งลำไส้ใหญ่

ไม่น่าเชื่อว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่จะติดอันดับต้น ๆ ของกลุ่มคนวัยทำงาน สาเหตุหลักเกิดจาก พฤติกรรมการกินอาหาร เช่น กินอาหารที่มีไขมันสูงแต่กากใยต่ำ ไม่ออกกำลังกาย จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่กว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ

มะเร็งผิวหนัง

ในกลุ่มคนทำงานที่ต้องทำงานกลางแจ้งอยู่เป็นประจำ ในแสงแดดมีรังสีอัลตร้าไวโอเลตทั้ง UVV UVB หากได้รับรังสีเหล่านี้เป็นประจำจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบผิวหนังจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และอาจจะลุกลามแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ บริเวณที่มักจะพบ เช่น ศีรษะ ใบหน้า สามารถรักษาให้หายได้หากพบในระยะเริ่มแรก

ผู้ป่วยมะเร็ง | มะเร็งลำไส้ใหญ่ | รู้ใจ

โรคมะเร็งในวัยสูงอายุ สำหรับมะเร็งในวัยสูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมลง อาจมีการกลายพันธุ์จนเกิดเป็นมะเร็งได้ในที่สุด การดูแลหรือเฝ้าระวังโดยการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดในทุกปี จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้ มะเร็งในผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่

  1. มะเร็งตับ
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  4. มะเร็งต่อมลูกหมาก
  5. มะเร็งเต้านม
  6. มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งทั้ง 6 ชนิดนี้เป็นมะเร็งที่ผู้สูงอายุต้องเฝ้าระวังและต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกายของตัวเอง วิธีการสังเกตอาการผิดปกติด้วยตัวเอง มีดังนี้ 

  • มีอาการปวดอย่างรุนแรงจนไม่สามารถนอนหลับได้ไม่ว่าตำแหน่งไหนในร่างกายก็ตาม
  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ทางช่องคลอด หรือ เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
  • มีแผลเรื้อรังรักษาไม่หายมากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • มีก้อนที่เต้านม ไฝโตขึ้น หรือเปลี่ยนสี
  • ไอเรื้อรัง เสียงแหบ
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • หูอื้อเรื้อรัง

หากผู้สูงอายุในบ้านของเรามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ ตรวจหามะเร็งเพราะหากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสรักษาหายได้ และไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต แม้ว่าตรวจเจอระยะสุดท้าย ก็สามารถทำให้มะเร็งสงบได้ ซึ่งปัจจุบันการรักษามีตัวยาใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะยารักษาแบบมุ่งเป้า ยากลุ่มนี้จะสามารถควบคุมให้โรคสงบได้ และสามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้อีกนานหลายปี 

มะเร็ง | อาการมะเร็ง | รู้ใจ

วิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เหมือนกันในทุกช่วงวัย

  • หยุดพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์
  • งดอาหารที่มีไขมันสูง
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น เดิน หรือโยคะง่าย ๆ ที่บ้าน
  • รักษาน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • เลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด
  • ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดตามช่วงอายุเป็นประจำทุกปี

หากสามารถปรับพฤติกรรมได้ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ รู้ใจสนับสนุนให้ทุกคนได้มีสุขภาพดี มีเวลาใช้ชีวิต เรียนรู้ และเติบโตไปตามช่วงวัยอย่างมีคุณค่า โดยปรารถนาให้ไม่มีโรคร้ายใด ๆ มากวนใจ หรือหากโชคร้ายนั้นเกิดขึ้นกับคุณ รู้ใจก็หวังว่าคุณจะไม่หมดหวัง ต่อสู้กับทุกโชคชะตาได้อย่างแข็งแรงทั้งกายและใจ แม้คุณไม่เคยคิดถึงการทำประกันมะเร็งให้ตัวเองมาก่อนเลยหรือคิดว่าโรคมะเร็งเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในวันที่โชคร้าย อย่างน้อยกรมธรรม์ประกันมะเร็งเพียง 1 ฉบับก็ยังเป็นโชคดี

เพราะโรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องอาศัยระยะเวลา ความอดทน กำลังใจ และค่ารักษาพยาบาลในการรักษา คุณอาจต้องอยู่กับการเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรคมะเร็งไปนานเป็นปี ๆ คงดีกว่าถ้าคุณรู้สึกว่ามีเงินค่ารักษาและมีเงินค่าใช้จ่ายเพียงพอ

ประกันมะเร็งของที่ไหนดี

ประกันมะเร็งที่ดีที่สุด คือประกันที่ครอบคลุมมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ และจ่ายเงินก้อนให้ทันทีที่ตรวจเจอโรค เพราะจะทำให้ผู้ป่วยหรือคนในครอบครัวที่กำลังเสียขวัญ เกิดความอุ่นใจได้เมื่อตรวจเจอโรคมะเร็ง เงินก้อนที่ได้รับจากประกันโรคมะเร็งทำให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ เลือกวิธีรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า และมีเงินสำรองใช้จ่ายกรณีที่ต้องหยุดงานเนื่องจากผลข้างเคียงของการรักษาโรคโดยไม่กระทบเงินเก็บ

ประกันมะเร็ง | รู้ใจ

ประกันมะเร็งที่รู้ใจ ครอบคลุมมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ รวมถึงมะเร็งผิวหนัง เบี้ยประกันคงที่ 5 ปี ไม่ปรับเพิ่มทุกกรณี คุ้มครองสูงสุด 3 ล้านบาท เริ่มเพียงวันละ 5 บาท เบี้ยประกันสามารถนำลดหย่อนภาษีได้ตามที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)