Roojai

ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนไหม? พฤติกรรมพ่อแม่แบบไหนทำให้ลูก Toxic

ครอบครัว | ไม่ใช่เซฟโซน | รู้ใจ

ครอบครัวไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน คำนี้คงจำกัดคำนิยามได้ดีที่สุด เพราะหากเป็นสถานที่ แต่การย้ายถิ่นฐานไปยังต่างถิ่น หากมีคนในครอบครัวไปด้วย เราก็จะไม่รู้สึกคิดถึงสถานที่เก่า หรือมีเหตุให้ต้องเทียวไปเทียวมา เพราะครอบครัวของเราอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าทั้งหมด ดังนั้น คนในครอบครัวควรจะเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วอบอุ่น อยู่ด้วยแล้วมีแต่ความสุข อยู่ใกล้แล้วรู้สึกปลอดภัย ทิ้งตัวได้ ทำให้ช่วงเวลายากลำบากของชีวิตผ่อนคลายขึ้น เป็นเซฟโซนที่ช่วยชาร์จพลังให้เรากลับไปสู้ต่อ หากคุณเป็นพ่อหรือแม่ที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราขอถามว่า คุณกำลังทำให้ลูกรู้สึกว่า #ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน อยู่หรือไม่

จากสถิติในเดือน พ.ย. 2564 มีรายงานว่า พ่อแม่หรือผู้ปกครองยังมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงกับเด็กมากกว่า 1,300 ราย โดยการใช้ความรุนแรงนั้นไม่เพียงแต่ตบ ตี ทำร้ายร่างกาย แต่ยังรวมไปถึงการด่าทอ ทำร้ายจิตใจ ใช้คำหยาบคายกับเด็ก และเด็กส่วนใหญ่เมื่อโดนกระทำเช่นนี้แล้ว จะไม่กล้าบอกใคร ซึ่งพฤติกรรมของผู้ปกครองเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กเป็นอย่างมาก (อ้างอิงข้อมูลจาก PPTV-News)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีแฮชแท็ก #ครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน เกิดขึ้นทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค ชาวเน็ตต่างแชร์ถึงประสบการณ์ความทุกข์ในครอบครัวของตัวเองที่ได้บั่นทอนความรู้สึกของตนเองมานานหลายปี ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบันซึ่งเกิดจากการอยู่ร่วมกับครอบครัว หรือพ่อแม่ที่มีพฤติกรรมทำร้ายจิตใจและทำร้ายร่างกาย

ครอบครัว | พฤติกรรม | รู้ใจ

เราเรียกความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบนี้ว่าเป็น ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) และพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้ เรียกว่าเป็น Toxic parents หากคุณยังไม่แน่ใจว่า การกระทำอะไรบ้างที่เป็นการกระทำแบบเป็นพิษกับเด็ก ลองเช็คตัวเองดูจากคำอธิบายด้านล่างนี้

พฤติกรรมทำพิษที่ทำให้พ่อแม่ไม่ใช่เซฟโซน (Toxic Parents)

1.พ่อแม่ที่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวและมักจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เช่น กะเกณฑ์ให้ลูกว่า ต้องเรียนแบบนั้น ต้องเรียนแบบนี้ โดยไม่เคยถามลูกว่าอยากเรียนหรือไม่ และมักจะเอาคำว่า “หวังดีกับลูก” มาเป็นข้ออ้างในการ บังคับให้เด็กทำตามที่ตัวเองต้องการ การกระทำแบบนี้ สร้างความกดดันให้กับเด็ก ทำให้เด็กไม่มีความสุข เด็กๆ จะเกิดความเครียด และรู้สึกไม่มีความสุขเวลาอยู่บ้านหรืออยู่กับผู้ปกครอง

2.พ่อแม่จอมบงการ

พฤติกรรมนี้จะตามมาหลังจากเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นได้ดั่งใจจึงต้อง “ออกคำสั่ง” สั่งให้ทำโน่นทำนี่ ห้ามทำแบบนั้น ห้ามทำแบบนี้ และส่วนใหญ่แล้วเมื่อออกคำสั่งหรือห้ามไม่ให้เด็กทำอะไรที่ขัดใจตัวเองแล้ว ไม่ได้มีคำอธิบายถึงสาเหตุของการห้าม ว่าห้ามทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร นานวันเข้า เด็กจะรู้สึกอึดอัดจนเด็กไม่มีความเป็นตัวเอง และเมื่อเด็กตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ อาจส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว

พ่อแม่ | ผู้ปกครอง | รู้ใจ
3.พ่อแม่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล

จริง ๆ แล้วผู้ปกครองควรจะเป็นเซฟโซนให้เด็ก ๆ เมื่อลูกมีปัญหา อยากได้คำแนะนำ หรืออยากระบายความอึดอัด พ่อแม่ควรจะเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก ๆ แต่ถ้าผู้ปกครองไม่สามารถทำให้ลูกๆ รู้สึกว่า สามารถพึ่งพิง ให้คำปรึกษาได้ เช่น เมื่อฟังลูกจบแล้วใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ดุด่าว่ากล่าวลูก ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา พฤติกรรมนี้จะทำให้ลูกๆ รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีที่พึ่งทางใจ และยังรวมไปถึงการใช้อารมณ์ในรูปแบบของความรุนแรง เช่น ตะคอก หรือทำร้ายร่างกายเด็ก พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้ลูกๆ รู้สึกว่า พ่อแม่เป็นบุคคลที่ไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

4.ลูกทำดีแค่ไหน พ่อแม่ก็ไม่พอใจอยู่ดี

ไม่ว่าลูกจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่เคยดีในสายตาพ่อแม่ และมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเด็กบ้านอื่น ๆ พฤติกรรมนี้ของพ่อแม่ เท่ากับปลูกฝังให้เด็กขาดความมั่นใจ เมื่อโตขึ้นไปจะเป็นคนที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ขาด Self Esteem จุดเริ่มต้นที่จะทำให้ลูกรู้สึกแบบนี้ คือการที่พ่อแม่เริ่มคิดว่า วัน ๆ ลูกไม่เห็นจะทำอะไรเลย นอกจากเล่น ทั้งที่เมื่ออยู่โรงเรียนเด็กอาจเรียนเต็มที่แล้ว เต็มที่ในที่นี้ หมายถึงมากพอที่จะศึกษาโดยไม่เครียด และใช้เวลาที่บ้านทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นต้น

5.พ่อแม่ที่อยากรู้ทุกเรื่อง จนล้ำเส้น

จะมีผู้ปกครองหรือพ่อแม่ที่พยายามเข้าไปจัดการชีวิตให้ลูกทุกอย่าง จนเกิดการล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเด็ก ๆ เพราะพ่อแม่มักจะคิดว่า ลูกอายุแค่นี้ ยังคิดไม่ได้หรอก เราต้องเข้าไปจัดการให้ แต่หารู้ไม่ว่า เด็ก ๆ เมื่อเริ่มเข้าวัยเรียนรู้ ไม่ว่าจะกี่ขวบ พวกเขามีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว จะสังเกตได้ว่า ศิลปินหรือดาราหลาย ๆ ท่านที่ไม่ถ่ายรูปลูกตัวเองลงโซเชียลมีเดีย เพราะพวกเขาเคารพความเป็นส่วนตัวของลูก พวกเขามองการณ์ไกลว่า หากลูกโตขึ้นแล้วกลับมาเห็นรูปเหล่านั้น อาจจะไม่พอใจก็ได้ เรื่องนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองอาจจะต้องระวังให้มาก รวมไปถึงการเปิดประตูเข้า-ออกห้อง หรือการเปิดสมุดไดอารี่ สมุดเรียนของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งเข้าข่ายความคิดเห็นของบางท่านว่า “เรื่องเล็กแค่นี้เอง” โปรดอย่าลืมว่า เรื่องแต่ละเรื่องของแต่ละคน เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน

ความปลอดภัย | ไข่ในหิน | รู้ใจ
6.พ่อแม่เลี้ยงลูกดุจไข่ในหิน (Over Protection)

ปกป้องลูกมากจนเกินไป จะเห็นได้จากหลาย ๆ ครอบครัว ที่พยายามปกป้องลูกจากความเจ็บปวดต่าง ๆ เช่น เมื่อเด็กหกล้ม จะรีบเข้าไปโอ๋ หรือห้ามไม่ให้ลูกเล่นกับสัตว์เลี้ยง เพราะกลัวมีเชื้อโรค ต่างจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในฝั่งอเมริกา ยุโรป ที่จะปล่อยให้เด็ก ๆ อยู่กับธรรมชาติ เล่นกับสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก หรือปล่อยให้ลูกออกไปวิ่งเล่น เมื่อเกิดการหกล้ม พวกเขาสอนให้ลูกลุกขึ้นเองโดยที่ไม่มีการปลอบโยน สิ่งนี้คือการให้ประสบการณ์จริงกับเด็ก เด็กจะเกิดการจดจำว่า อ๋อ ทำแบบนี้แล้วเจ็บตัว ต่อไปพวกเขาจะระวังตัวมากขึ้น

เมื่อเทียบกับการเลี้ยงลูกของคนไทยส่วนใหญ่ ที่ไม่ยอมให้ลูกเผชิญกับความเจ็บปวด เด็ก ๆ ที่โดนปลอบ โดนโอ๋จนมากเกินไป พอโตขึ้นพวกเขาจะไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อเกิดปัญหาจะหาทางออกเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่น

เด็ก ๆ หรือลูกไม่ว่าจะยังเป็นเด็ก หรือโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม พ่อแม่ต้องท่องไว้ในใจเสมอว่า “พวกเขาไม่ใช่สิ่งของ” และชีวิตของลูก ๆ ไม่ใช่เกม เราไม่สามารถบังคับพวกเขาให้เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ เพื่อให้ตอนจบเราได้ชัยชนะหรือเป็นไปตามเกมที่เราคิดไว้ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการป้อนยาพิษให้ลูกกิน นานวันเข้าพิษในตัวเยอะขึ้น จะเกิดปัญหาด้านพฤติกรรม และการใช้ชีวิตของลูก ๆ ในอนาคต

เซฟโซน | ครอบครัว | รู้ใจ

หากคุณกำลังเป็น 1 ใน 6 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ลองปรับ เปลี่ยน และใช้ความเข้าใจให้มากขึ้น วิธีที่ง่ายที่สุดคือการทำความเข้าใจว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป สังคมการเติบโตเปลี่ยนไป อะไรที่เราเคยเจอตอนเด็ก ไม่ได้หมายความว่าลูกเราจะเจอ การรับมือและปรับตัวไปพร้อมกับลูกเป็นสิ่งที่ดี ลูกเติบโตขึ้นทุกวัน พ่อแม่เองก็เช่นกัน ถ้าไม่อยากจะเป็นยาพิษที่ทำร้ายลูก ๆ ลดความ Toxic ลง หรือถ้าลองทำแล้วยังไม่ดีขึ้น รู้ใจเเนะนำให้ปรึกษานักจิตวิทยาเกี่ยวกับด้านการเลี้ยงลูกและปัญหาในครอบครัว ซึ่งนั่นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ช่วยกันทำให้ ครอบครัวเป็นเซฟโซน สำหรับทุกคน และอย่าลืมเซฟการเงินของครอบครัว ด้วยการวางแผนประกันสุขภาพสำหรับคนในครอบครัว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่ต้องกังวลค่ารักษา ประกันอุบัติเหตุที่รู้ใจเหมาะสำหรับทุกเพศวัย โดยเฉพาะลูก ๆ วัยเติบโตของคุณ รวมถึงประกันมะเร็งที่ช่วยดูแลคู่ชีวิต เบี้ยเริ่มวันละ 5 บาท ตรวจเจอรับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาท

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)