Roojai

อัลไซเมอร์ โรคที่อยากจำกลับลืม รู้เท่าทันป้องกันก่อนเป็น

อัลไซเมอร์ | เส้นเลือดในสมองตีบ | วิธีดูแลตัวเอง | วิธีรักษา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อัลไซเมอร์อาจเป็นคำที่คนส่วนใหญ่มักพูดหยอกล้อกับพฤติกรรมของเพื่อน ๆ เมื่อมีการลืมทำบางสิ่งบางอย่าง แต่จริง ๆ แล้วอัลไซเมอร์ไม่ใช่แค่การลืมทำบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น คนที่เป็นอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิตสูงมาก ไม่เพียงเฉพาะคนสูงอายุที่จะเป็นอัลไซเมอร์เท่านั้น  สมองของเราทุกคนไม่ว่าวัยไหน ก็มีความเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ เรามาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น ว่าเกิดจากอะไร อาการอัลไซเมอร์เป็นอย่างไร มีวิธีการรักษา หรือมีวิธีดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยังไง

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร?

อัลไซเมอร์ (Alzheimer) หรือ ภาวะสมองเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อม ความถดถอยของการทำงานหรือโครงสร้างเนื้อเยื่อของสมอง ส่วนใหญ่มักพบในผู้สูงอายุ โดยภาวะสมองเสื่อมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เบต้า-อะไมลอยด์” ชนิดไม่ละลายน้ำ เมื่อโปรตีนตัวนี้ไปจับกับเซลล์สมอง จะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย เนื่องจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความจำ

เมื่อมีการสะสมของโปรตีน เบต้า-อะไมลอยด์มากขึ้น มันจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง โดยความเสื่อมของสมองจะเริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส สมองส่วนนี้มีหน้าที่ในการจดจำข้อมูลใหม่ เมื่อสมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาความจำ โดยเฉพาะความจำระยะสั้น หลังจากนั้น ความเสียหายจะค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังสมองส่วนอื่น และจะส่งผลกระทบอื่นตามมา เช่น ส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่หรือเกือบจะทุกคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องอัลไซเมอร์อาจแยกไม่ออกระหว่าง “การหลงลืมตามวัย” กับ “โรคอัลไซเมอร์” ทั้งสองอาการต่างกันยังไง เราหรือคนที่เรารักกำลังเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ ลองอ่านบทความนี้กัน

โรคอัลไซเมอร์ | วิธีดูแลตัวเอง | วิธีรักษา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อาการแบบนี้ อัลไซเมอร์หรือแค่หลงลืมตามวัย?

  • อาการหลงลืมตามวัย

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรือมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะถดถอยลงตามวัย อาจมีความคิดที่ช้าลง ใช้เวลานึกถึงสิ่งต่าง ๆ นานขึ้น การตัดสินใจแย่ลง และอาจมีการหลงลืมเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น ลืมว่าวางของไว้ตรงไหน หรือจดจำชื่อบุคคลไม่ได้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะนึกออก แต่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น

  • อาการที่เข้าข่ายเป็นอัลไซเมอร์

อาการของผู้ป่วยที่เข้าข่ายว่าจะเป็นอัลไซเมอร์จะแตกต่างกับการหลงลืมตามวัยตรงที่จะจำเหตุการณ์ไม่ได้เลยว่าเคยมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น พยายามนึกเท่าไหร่ หรือมีคนคอยบอกใบ้ยังไงก็นึกไม่ออก จำไม่ได้ หรือทักษะการใช้เครื่องมือ เช่น จำไม่ได้ว่าโทรศัพท์มือถือใช้ยังไง ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง อาการของผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นอัลไซเมอร์สมองจะค่อย ๆ เสื่อมเเบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลต่อการใข้ชีวิตประจำวัน 

นอกจากนี้ ยังมีภาวะสมองเสื่อม พบได้ในผู้สูงอายุ แบ่งตามสาเหตุได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  1. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายได้ – พบประมาณ 20% ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด โดยสาเหตุมาจากโรคทางกาย เช่น เส้นเลือดในสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามินบี 12 หรือเป็นไทรอยด์
  2. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย – พบมากถึง 80% ในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และหนึ่งในสาเหตุนั้นมาจากโรคอัลไซเมอร์ถึง 50% ส่วนที่เหลือเป็นโรคที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์อีก 5 – 6 โรค

อัลไซเมอร์เกิดจากอะไร?

  • เกิดจากความผิดปกติในเนื้อสมอง
  • เกิดการอักเสบ (Inflammatory) เมื่อสารอะไมลอยด์เสื่อมหรือสลายจะทำให้อนุมูลอิสระออกมา อนุมูลอิสระนี้ ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์สมอง
  • เกิดจากกรรมพันธุ์ ประมาณ 5% โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุ 50 – 60 ปี
  • พบว่าเพศหญิง มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชายเล็กน้อย 
  • อายุ ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ อายุที่มากขึ้นความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้น จากสถิติพบว่ากลุ่มคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 5% และในกลุ่มที่มีอายุ 75 ปี พบว่าเป็นอัลไซเมอร์ 15% และในกลุ่มที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไปพบมากถึง 40% 

ยังมีปัจจัยที่เกิดขึ้นในภายหลัง ที่เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อีก เช่น การเป็นโรคบางอย่าง ดังต่อไปนี้ 

  • โรคเบาหวาน พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 39%
  • โรคความดันโลหิตสูง เสี่ยงสูงกว่า 61%
  • โรคอ้วน เสี่ยงสูงกว่า 60%
  • การสูบบุหรี่ เสี่ยงสูงกว่า 59%
  • คนที่ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงสูงกว่า 82%

และยังมีปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางกายภาพอื่น ๆ อีก เช่น 

  • ระดับการศึกษา พบว่า คนที่มีการศึกษาไม่สูงมากมีความเสี่ยงสูงกว่า 59%
  • ผู้ป่วยซึมเศร้า มีความเสี่ยงสูงกว่า 90%
  • การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้การทำงานของสมองในหลายด้านลดลง และยังเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย 
  • การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ เช่น มีการหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับ การเคลื่อนไหวผิดปกติช่วงนอน เช่น มีอาการกระตุกระหว่างนอนหลับ หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งคืน ทำให้ง่วงนอนตอนกลางวัน โรคเหล่านี้มีผลต่อการซ่อมแซมเซลล์สมองในช่วงระหว่างการนอนหลับลึก และการรวบรวมความจำในช่วงระหว่างการนอนหลับตื้น
  • มีประวัติได้รับอุบัติเหตุทางสมอง ที่ทำให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย
อาการโรคอัลไซเมอร์ | วิธีดูแลตัวเอง | วิธีรักษา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

อัลไซเมอร์มีกี่ระยะ? มีอาการยังไงบ้าง?

โรคอัลไซเมอร์สามารถแบ่งออกได้เป็นระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็ง โดยแต่ละระยะจะแสดงอาการแตกต่างกัน ดังนี้ 

  1. ระยะก่อนสมองเสื่อม – ผู้ป่วยในระยะก่อนสมองเสื่อมนี้จะแสดงอาการเล็กน้อย เช่น มีปัญหาในด้านการจดจำข้อมูลใหม่ แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองและใช้ชีวิตประจำวันได้ 
  2. สมองเสื่อมระยะแรก – อาการอัลไซเมอร์ที่เข้าสู่ระยะสมองเสื่อมระยะแรก จะสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น ความจำใหม่หรือความจำที่เพิ่งได้เรียนรู้มา และจะใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันนานกว่าเดิม
  3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง – มีอาการหลงลืมและสับสนเพิ่มมากขึ้น ทำกิจกรรมเดิมแบบซ้ำ ๆ การพูดหรือการใช้ภาษาบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด
  4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย – ผู้ป่วยในระยะนี้จะสูญเสียความทรงจำทั้งในระยะสั้นและยาว การใช้ภาษาลดลงมาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เอง ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา หรือมีอาการเหมือนเด็ก ๆ อีกครั้ง 

อัลไซเมอร์มีอาการยังไง?

อาการอัลไซเมอร์เริ่มแรก คือ การสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ซึ่งอาการนี้จะใกล้เคียงกับภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ เมื่อผ่านไปสักระยะผู้ป่วย 80 – 90% จะมีพฤติกรรมหรืออาการทางจิตเวชร่วมด้วย เช่น มีอาการก้าวร้าว และมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • ระยะแรก จะมีอาการถามแล้วถามอีก พูดซ้ำในเรื่องเดิม ๆ สับสนในเรื่องของทิศทาง มีภาวะเครียด อารมณ์แปรปรวน และมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่ยังสื่อสารและใช้ชีวิตปกติได้ 
  • ระยะกลาง อาการจะชัดเจนขึ้น เช่น ความจำแย่ลงมาก ๆ เดินแบบไม่มีจุดหมาย พฤติกรรม เปลี่ยนไปสิ้นเชิง จากคนที่สุภาพ อาจพูดจาหยาบคาย หรือจากคนขี้โมโห อารมณ์ร้าย เปลี่ยนเป็นคนไม่พูด เงียบขรึม ในระยะนี้เมื่อเวลาผ่านไปจะดูแลยากขึ้น เพราะผู้ป่วยเริ่มจะใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองไม่ได้ เช่น เปิดประตูห้องน้ำไม่ได้ จำวิธีปิดฝักบัวไม่ได้ หรืออาจมีความคิดที่ไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง เช่นคิดว่าลูกหรือหลานขโมยของ คิดว่ามีคนตามฆ่า อาการเหล่านี้ จะดูแลยากและไม่สามารถเข้าสังคมเหมือนคนปกติได้
  • ระยะสุดท้าย จะมีอาการแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด เริ่มตอบสนองช้าลง หรือกลับไปเป็นเด็ก สุขภาพจะย่ำแย่ลง ติดเตียง ไม่อยากกินหรือทำอะไร ในบางรายคือไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ซึ่งอาการนี้มักนำไปสู่การติดเชื้อหรือมีภาวะโรคแทรกซ้อน และทำให้เสียชีวิตในที่สุด โดยระยะทั้งหมดของการเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะใช้เวลาตั้งแต่ก่อนเริ่มจนถึงระยะสุดท้ายประมาณ 8-10 ปี 

โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่เราทุกคนบนโลกนี้ ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราควรเรียนรู้วิธีที่จะรับมือหรืออยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุข ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีวิธีดูแลยังไง และเราจะรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ยังไง

อาการโรคอัลไซเมอร์ | วิธีดูแลตัวเอง | วิธีรักษา | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

วิธีดูแลและใช้ชีวิตอยู่กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

  • วางแผนดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ทั้งการปรับปรุงที่อยู่ให้ปลอดภัยกับผู้ป่วย การวางแผนทางการเงิน 
  • ให้ความรักและความเข้าใจกับผู้ป่วย ด้วยการจับมือ การกอด จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น
  • เลี่ยงการอธิบายเรื่องยาว ๆ หรือเลี่ยงการโต้เถียง ทางออกที่ดีที่สุดคือ รับฟัง และให้อภัยผู้ป่วย
  • หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่
  • ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเหมือนเด็ก ความคิด การตัดสินใจจะทำได้ไม่ดี จำเป็นต้องมีคนดูแลตลอดเวลา หากเป็นสมาชิกในครอบครัวจะยิ่งดีกว่าเป็นคนอื่น เพราะจะเข้าใจผู้ป่วย และรู้เรื่องราวของผู้ป่วยในอดีตได้ดีกว่าคนอื่น
  • พาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น พาเดินออกกำลังกายทุกเย็น หรือพาไปเที่ยวนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ 
  • ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมาก และจำเป็นต้องอยู่กับผู้ป่วย 24 ชั่วโมง เพราะหากผู้ป่วยเดินออกนอกบ้านตามลำพัง อาจเกิดอุบัติเหตุได้ 

เราทุกคนคงไม่มีใครที่อยากป่วยหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การดูแลตัวเองตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การออกกำลังกาย ทานอาหารดี ดูแลสุขภาพอยู่เสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายต่าง ๆ และนอกจากนั้น การทำประกันโรคร้ายแรงติดไว้ จะช่วยคุณเซฟเงินในกระเป๋า เมื่อถึงวันที่ป่วยก็ยังมีเงินก้อน ทั้งรักษาตัวและใช้ในชีวิตประจำวัน

ประกันโรคร้ายแรงที่รู้ใจ หากตรวจพบโรคร้ายแรง รับเงินก้อนสูงสุด 2,000,000 บาท คุ้มครองมะเร็งทุกชนิด ทุกระยะ กลุ่มอาการทางระบบประสาท โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะอวัยวะล้มเหลว ให้คุณหมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย เข้ารับการรักษาได้อย่างสบายใจ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)