Roojai

ติดเชื้อ HIV ไม่ใช่โรคเอดส์เสมอไป ต่างยังไง รู้ทันก่อนลุกลาม

โรค HIV | อาการ HIV | รู้ใจ

หากพูดถึงผู้ติดเชื้อ HIV คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมไปว่า HIV คือผู้ที่เป็นโรคเอดส์ และเมื่อพูดถึงโรคเอดส์ คนก็จะโยงไปที่กลุ่มผู้ใหญ่นักท่องเที่ยวที่ชอบซื้อบริการทางเพศ และรวมไปถึงนักดื่มกินเที่ยวยามราตรี

มีรายงานจากรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ในปี 2564 จำนวน 520,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 6,500 คนต่อประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15 – 24 ปี แต่ดูจากสถิตินี้น่าตกใจว่ากลุ่มเสี่ยงจะเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่อายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเรื่องการติดเชื้อ HIV เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการ HIV ระยะ HIV รวมถึงโรคเอดส์ สาเหตุคืออะไร แตกต่างจากการติดเชื้อ HIV ยังไง มาช่วยกันสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกัน

เชื่อว่าหลายคนยังคงสับสนอยู่ระหว่างผู้ที่มีเชื้อ HIV กับผู้ป่วยโรคเอดส์ วันนี้รู้ใจชวนคุณมาทำความเข้าใจเรื่อง HIV โรคใกล้ตัวที่คุณควรระวัง

เอชไอวี (HIV) คืออะไร?

เอชไอวี หรือ Human Immunodeficiency Virus (HIV) คือ เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นไวรัสที่สามารถส่งต่อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ จากการที่ไม่สวมถุงยางอนามัยป้องกันและจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น เลือด อสุจิ น้ำเหลือง รวมถึงน้ำนมแม่

เอชไอวี (HIV) สาเหตุเกิดจากอะไร?

ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV มาแล้วประมาณ 14 – 28 วัน จะมีอาการคล้ายกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่หรือมีอาการคล้ายกับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ ไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับเชื้อทำงานบกพร่อง ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติ 

เชื้อเอชไอวีในปัจจุบันมีมากกว่า 10 สายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วโลก โดยที่สายพันธุ์ดั้งเดิมสามารถแบ่งตามลักษณะทางพันธุกรรมออกได้เป็น 2 ชนิด 

  • HIV-1 – พบมากทางแถบประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง
  • HIV-2 – พบมากในประเทศอินเดีย และแอฟริกาตะวันตก

ในเชื้อเอชไอวีจะมี p24 antigen หรือสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีที่เป็นตัวกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์สร้างภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ต่อไวรัสนี้ และส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย หากร่างกายได้รับเชื้อแล้วจะไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีออกไปได้ และเชื้อเอชไอวีจะคงอยู่ตลอดไป

เช็คตัวเองยังไงว่าเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อเอชไอวี จะแสดงอาการ HIV หลังการรับเชื้อประมาณ 14 – 28 วัน โดยจะมีอาการเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการดังต่อไปนี้ 

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดศีรษะ เวียนหัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผิวหนังเป็นผื่นหรืออักเสบ มีรอยฟกช้ำเป็นจุด ๆ 
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • น้ำหนักลด ท้องเสียเรื้อรัง
  • เหงื่อออกมากจนผิดปกติ

หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ HIV ในเลือด หากผลแสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาในลำดับต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่คนอื่น 

ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ไม่ใช่โรคเอดส์

มีคนอีกจำนวนมากที่คิดว่าการติดเชื้อเอชไอวี นั่นหมายความว่าเป็น “เอดส์” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นความเชื่อที่ผิด 

HIV คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่ไปทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกายแล้วมันจะไปยึดจับและทำลายเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากไม่ทำการรักษาระดับ CD4 จะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และนำไปสู่การเป็นโรคเอดส์ได้

AIDS คือ โรคเอดส์ สาเหตุจากการติดเชื้อ HIV ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 ระบบภูมิคุ้มกันและเม็ดเลือดขาวถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรคได้ หรือเรียกว่าภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งง่ายต่อการติดเชื้อต่าง ๆ 

HIV | ตรวจ HIV | รู้ใจ

ระยะของการติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็นระยะ HIV ต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ระยะ 1 – เป็นระยะ HIV ที่เริ่มติดเชื้อ ร่างกายจะไม่ค่อยแสดงอาการ HIV มาก
  • ระยะ 2 – ระยะ HIV  นี้จะเริ่มมีตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในปาก ลิ้น หรือเป็นงูสวัด
  • ระยะ 3 – เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์เต็มตัว ระยะ HIV นี้อาจมีการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น เชื้อราขึ้นสมอง วัณโรค 

ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จะเป็นระยะที่เรียกว่าติดเชื้อ HIV ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่หากเริ่มก้าวเข้าสู่ระยะที่ 3 ของการติดเชื้อ HIV จะเรียกว่าเป็นผู้ป่วยโรคเอดส์

ดังนั้นหากรู้ตัวว่ามีเชื้อ HIV จึงควรรีบทำการรักษา การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษา และทำให้ห่างไกลจากโรคเอดส์ได้และผู้ป่วย HIV ก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป

เอชไอวี (HIV) ติดต่อได้ทางไหนบ้าง?

  1. ทางการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  2. ทางการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย อสุจิ เสมหะ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำนมแม่
  3. ติดเชื้อผ่านทางบาดแผลเปิด แผลเริม และแผลติดเชื้อ
  4. จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น เข็มเจาะหู หรือ เข็มที่ใช้ในการสักลงบนผิวหนัง
  5. การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (Vertical Transmission)

วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรส
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • หากต้องการสักหรือเจาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้ตรวจสอบร้านหรือสถานบริการนั้นจนมั่นใจว่า สะอาด ปลอดภัย มีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์อย่างถูกต้อง
  • ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อด้วยกันทั้งสิ้นควรป้องกันตัวเองอย่างรอบคอบ
  • ตรวจเลือดก่อนการแต่งงานและควรตรวจก่อนการตัดสินใจจะมีลูก 
  • ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง
  • หากรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ ผู้ที่โดนล่วงละเมิดทางเพศหรือลืมป้องกันก่อนมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีหรือยา Prep ที่ช่วยป้องกัน ยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อและช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ยา Prep คืออะไร ใช้ตอนไหน?

ยา Prep หรือ Pre-exposure prophylaxis เป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อ ใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี เช่น กลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือคู่นอนมีเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยยา Prep นี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% แต่ต้องรับประทานอย่างถูกต้อง 

ก่อนการใช้ยา Prep ควรมีการตรวจ HIV ก่อนเสมอว่าไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน โดยต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อประสิทธิภาพของยา

  • ทานยา Prep วันละ 1 เม็ด และต้องทานยาให้ตรงเวลาเดิมของทุกวัน
  • ต้องทานติดกันอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการมีเพศสัมพันธ์และทานต่อเนื่องต่ออีก 3 เดือนเต็ม
  • กรณีที่มีการทานยาอื่น ๆ อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ต้องแจ้งข้อมูลนี้กับแพทย์ให้ทราบ
  • ไม่ควรทานยา Prep 2 เม็ดในวันเดียว หากลืมทานยาให้ทานเม็ดที่ลืมเมื่อนึกขึ้นได้ทันที หากใกล้เวลาทานเม็ดต่อไปแล้ว ให้ทานยาเม็ดถัดไปตามปกติ
  • ควรปรึกษาแพทย์ทันที หากตรวจพบว่าตนเองมีความเสี่ยงคล้ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ยา Prep อาจมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ น้ำหนักลด
  • แม้ว่าทานยา Prep แล้ว แต่ยังคงต้องสวมถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่ออื่น ๆ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการระวังตัวเองจากความเสี่ยงของการติดเชื้อ หากมีความเสี่ยงที่จะติดควรรีบไปตรวจ HIV เพราะเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อก็จะอยู่กับคุณไปตลอด ควรรีบรักษาก่อนลุกลาม ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด กินยาสม่ำเสมอ และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)