Roojai

Checklist พฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

Checklist พฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อาจจะเคยสับสน กังวลใจว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ เพราะมีความคิดซ้ำ ๆ คิดวนไปวนมา เช็คโน่นเช็คนี่บ่อย ๆ กังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป แบบนี้เข้าข่ายเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ หรือเกี่ยวกับระบบประสาทอะไรหรือไม่ เรามาหาคำตอบในบทความนี้ แล้วลองเช็คอาการของตัวคุณไปพร้อม ๆ กัน

โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive-Complusive Disorder (OCD)

สามารถเรียกโรคย้ำคิดย้ำทำแบบสั้น ๆ ว่า OCD เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิดด้วยการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ซ้ำ ๆ เพื่อลดอาการกังวลใจของตัวเองที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้วมักจะรู้ตัวว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่สามารถหยุดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ พฤติกรรมหรือนิสัยที่ผู้ป่วย OCD มักจะแสดงออกมา เช่น

  • ล้างมือบ่อยจนเกินไป
  • ปิดแก๊ส ปิดไฟ ปิดแอร์หรือยัง
  • ก่อนออกจากบ้านเช็คความเรียบร้อยหลายครั้งจนเกินปกติ
  • จัดสิ่งของทุกอย่างเป็นระเบียบมากจนเกินความพอดี
  • คิดจินตนาการถึงความรุนแรงหรืออุบัติเหตุมากจนเกินไป
  • กังวลเรื่องความสะอาดมากจนเกินไป

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรค OCD จะมีความกังวลหรือการย้ำคิดย้ำทำไม่มาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ในคนปกติมักจะล้างมือหลังจากออกจากห้องน้ำเพียง 1 ครั้ง แต่ในผู้ป่วยที่เป็น OCD มักจะล้างมือบ่อยจนเกินที่คนปกติเขาทำกัน ล้างแล้ว และเดินกลับเข้าไปล้างอีกมากกว่า 3 รอบ เป็นต้น หรือ ก่อนออกจากบ้าน ก็จะเช็คความเรียบร้อยก่อนออกจากบ้านวนไปวนมาหลายครั้ง เพื่อลดความกังวลใจของตัวเอง

ถ้ามีอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และรู้สึกตัวว่าอาการเหล่านี้ “มันไม่สมเหตุสมผล” สักเท่าไหร่ จนทำให้ตัวเองไม่มีสมาธิในการทำงาน นิสัยหรือพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเข้าข่ายเป็นโรค OCD

โรคย้ำคิดย้ำทำ | รู้ใจ

โรคย้ำคิดย้ำทำมีสาเหตุมาจากอะไร

โรคย้ำคิดย้ำทำ มีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองและระบบประสาทที่ทำงานบกพร่อง อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ มีการทำงานของสมองบางส่วนมากเกินปกติ หรือมีความผิดปกติของสารเซโรโท-นิน ที่เป็นสารสื่อประสาทในสมอง สารตัวนี้มีหน้าที่คอยควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และอาจเกิดได้จากสารพันธุกรรมหรือปัจจัยอื่น ๆ จากสภาพแวดล้อมหรือจากประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น ผู้ป่วยอาจเคยถูกทารุณกรรมมาในช่วงวัยเด็ก เป็นต้น

ในผู้ป่วย OCD อาจจะมีผู้ป่วยที่มีอาการแค่ย้ำคิด เป็นการคิดซ้ำ ๆ วนไปวนมาจนทำให้เกิดความกังวลใจและไม่สามารถหยุดความคิดนั้นไว้ได้ ในบางคนสามารถจินตนาการเหตุการณ์ไปได้ไกล จนทำให้เรื่องธรรมดา ๆ กลายเป็นเรื่องราวเลวร้ายได้ เช่น คิดว่ามือสกปรก ติดเชื้อโรค เลยต้องล้างมือซ้ำ ๆ บางคนล้างมือมากเกินไปจนมือเป็นแผลเลยก็มี เรามาลงรายละเอียดของอาการ “ย้ำคิด” และ “ย้ำทำ” ให้ผู้อ่านได้ลองสังเกตตัวเองดูจากคำอธิบายด้านล่างนี้

อาการย้ำคิด

เป็นความคิดเดิม ๆ ซ้ำซาก อาการย้ำคิดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมย้ำทำ มักส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวล มีความทุกข์ใจจากความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น

  • วิตกกังวลเรื่องความสะอาดมากเกินไป จนไม่กล้าหยิบจับ สัมผัสสิ่งของ สัตว์ และคน
  • มีความเป็นระเบียบมากจนเกินไป เช่น เมื่อเห็นของวางบนโต๊ะที่มีการวางไม่เท่ากัน จะรู้สึกกังวลและเป็นทุกข์
  • กังวลเรื่องความปลอดภัยมากจนเกินไปจนจินตนาการถึงอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ฉันลืมปิดแก๊สหรือเปล่านะ ถ้าลืมแล้วบ้านเกิดไฟไหม้ ความวิตกกังวลนี้ ทำให้ผู้ป่วยต้องกลับไปเช็คคความเรียบร้อยอยู่แบบนั้น ซ้ำ ๆ จนเป็นอาการย้ำทำ
  • มีความคิดรุนแรงเรื่องเพศ ศาสนา การเมือง ฯลฯ
อาการย้ำทำ

อาการย้ำทำจะเกิดขึ้นหลังจากสมองมีการคิดวนซ้ำไปมา จนไปกระตุ้นให้เกิดการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อขจัดความกังวลออกจากจิตใจ รวมถึงเป็นกฏเกณฑ์บางอย่างที่ผู้ป่วย OCD ตั้งกฏขึ้นมาเองและคิดเอาเองว่าการปฏิบัติตามกฏที่ตัวเองตั้งขึ้นมาอย่างเคร่งครัดนั้นจะทำให้ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้

ผู้ป่วยจะเกิดความสบายใจเมื่อได้ลงมือทำ คนที่เป็น Perfectionist (ผู้ที่ชอบในความสมบูรณ์แบบ) จะต่างจากคนที่เป็นโรค OCD คนที่เป็น OCD จะไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองได้ ทำให้เสียเวลาในการย้ำทำในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ก่อให้เกิดผลกระทบในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น

  • ล้างมือบ่อยจนเกินไป
  • ตรวจเช็คความเรียบร้อยจนเกินความพอดี เช่น เช็คว่าล็อคประตูหรือยัง เดินวนไปมาเพื่อตรวจเช็คอยู่นานเป็นสิบ ๆ นาที
  • มีระเบียบมากจนเกินไป เช่น การตั้งวางสิ่งของต่าง ๆ มีลักษณะที่ไม่เหมือนคนปกติ มีการเว้นช่องสิ่งของที่เท่า ๆ กัน ถ้าไม่เท่ากันจะเกิดความกังวลจนทำอย่างอื่นไม่ได้
  • มักจะตั้งกฏเกณฑ์บางอย่าง เช่น ต้องเช็ดโต๊ะทำงาน 10 รอบ ถึงจะสะอาด หรือต้องแปรงฟันตอนเช้ามากกว่า 3 ครั้งถึงจะสะอาด
  • เป็นนักสะสม ที่เก็บทุกอย่าง ไม่ทิ้งของแม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้ใช้แล้วก็ตาม
ระบบประสาท | รู้ใจ

สาเหตุของการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ

ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าโรคย้ำคิดย้ำทำเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีข้อสันนิษฐานไว้ว่าอาจจะเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

  • จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ในครอบครัวที่มีสมาชิกมีประวัติเป็นโรค OCD อาจถ่ายทอดพันธุกรรมนี้สู่รุ่นลูกได้
  • จากความผิดปกติทางสมอง การทำงานของระบบประสาทในสมองบางอย่างอาจเกิดความบกพร่องซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ได้
  • สภาพแวดล้อม ผู้ป่วยอาจเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาในชีวิต เช่น การถูกทารุณกรรมทางเพศ ปัญหาชีวิตที่รุนแรงที่ก่อให้เกิดความเครียด จนเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรค OCD

วิธีการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคย้ำคิดย้ำทำ OCD ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยที่เป็น OCD จำเป็นต้องพบแพทย์อยู่เสมอ โดยการรักษาจะเป็นการให้ยาตามอาการ เพื่อที่จะทำให้อาการของผู้ป่วยบรรเทาลงและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ปกติจะใช้วิธีรักษา 2 วิธี ดังนี้

1.รับประทานยาทางจิตเวช

แพทย์จะสั่งยาต้านเศร้าหลากหลายชนิดให้ผู้ป่วย เช่น โคลมิพรามีน เซอร์ทราลีน พาร็อกซีทีน ฟลูวอกซามีนและฟลูออกซิทีน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการที่ผู้ป่วยแจ้ง การกินยาจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นหลังจากกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 8-12 สัปดาห์

ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ยาทางจิตเวชมักจะส่งผลข้างเคียงจากการใช้ยา ฉะนั้น ผู้ป่วยอาจจะต้องระมัดระวังในการใช้ยา อย่างในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในช่วงแรกหลังการกินยาและช่วงที่มีการปรับยา การกินยาต้านเศร้าต้องกินติดต่อกันจึงจะลดอาการอยากฆ่าตัวตายลงได้ ดังนั้น ผู้ป่วย OCD จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์อยู่ตลอดเวลาและต้องกินยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ

2.การทำจิตบำบัด

นอกจากการรักษาโดยการให้ยารักษาตามอาการแล้ว การพบนักจิตบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วย OCD มีอาการดีขึ้น การพบนักจิตบำบัดจะช่วยปรับการรับรับรู้และวิธีจัดการกับความวิตกกังวลได้อย่างถูกต้อง การทำจิตบำบัดนี้ อาจจะต้องใช้เวลาและความพยายามของผู้ป่วย และอาจจะต้องเข้ารับการบำบัดร่วมกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ด้วย

จิตแพทย์ จิตบำบัด | รู้ใจ

เช็คตัวเองสักนิด ว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่

หากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วแต่ยังไม่เเน่ใจว่า อาการที่คุณเป็นอยู่นั้น สรุปแล้วใช่ OCD หรือไม่ ให้พิจารณาจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ดู

  • การย้ำคิดย้ำทำนั้นมีผลกระทบกับชีวิตประจำวันหรือไม่
  • สร้างความวิตกกังวลจนเกินไปหรือไม่
  • สิ่งที่กำลังย้ำคิดย้ำทำนั้น ทำให้คุณเกิดความทุกข์และหยุดคิดไม่ได้หรือไม่
  • พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เคยใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กินเยอะมากเกินไปหรือไม่ หรือล้างมือบ่อยจนเกินคนปกติจนทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือหรือไม่

หากคุณมีอาการเหล่านี้และทำให้คุณเสียเวลาในการใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นในแต่ละวันไปกับพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน แนะนำให้รีบไปปรึกษาจิตแพทย์โดยเร่งด่วน

ถึงแม้ว่าโรคย้ำคิดย้ำทำหรือ OCD จะไม่ได้เป็นโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตก็ตาม แต่โรค OCD นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย การกินยารักษาตามอาการจะช่วยบรรเทาอาการของโรคให้ลดลงและจำเป็นต้องเข้าทำจิตบำบัดควบคู่ไปกับการกินยาด้วย อาการย้ำคิดย้ำทำถึงจะทุเลาลงและควบคุมได้

การป้องกันและดูแลสุขภาพทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาลจากโรคร้ายแรงหรืออุบัติเหตุถือเป็นความคิดที่ยอดเยี่ยม คุณจะได้พักรักษาตัวได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน เพราะที่รู้ใจคุ้มครองให้คุณ สามารถดูรายละเอียดแผนประกันสุขภาพต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.roojai.com สามารถปรับแต่งแผนได้เองตลอด 24 ชม. รู้ใจห่วงใย อยากให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง
ติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai