Roojai

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นผื่นลมพิษ โรคใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นผื่นลมพิษ | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

อาการคันที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง ถ้าไม่นับว่ายุงกัด มดกัด ก็น่าจะเพราะแพ้อะไรบางอย่าง และสิ่งนั้นมาสัมผัสโดนผิวหนัง จนทำให้เกิดผื่นแดงๆ ตามมา หรือที่เรียกกันว่า “ผื่นลมพิษ” แล้วลมพิษคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น สาเหตุ และวิธีการรักษา

โรคลมพิษ คืออะไร?

ลมพิษหรืออาการผื่นลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคหนึ่งของโรคผิวหนัง โดยปกติแล้ว เราอาจจะพบอาการของลมพิษขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และทุกช่วงอายุ ฉะนั้นอาจพูดได้ว่า ทุกคนทุกช่วงวัยมีโอกาสเกิดลมพิษได้เช่นกัน

ลักษณะอาการลมพิษจะเป็นผื่นแดง นูน บวม กระจายขึ้นตามลำตัว แขนขา หรือใบหน้า และมักจะมีอาการคันร่วมด้วย ผื่นลมพิษจะค่อย ๆ ยุบลงได้เองภายใน 24 ชั่วโมง บางรายที่เกิดอาการบริเวณเนื้ออ่อน เช่น ริมฝีปาก หนังตา จะเรียกลมพิษประเภทนี้ว่า “ภาวะแองจิโออีดีมา หรือ Angioedema” อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 วัน ผื่นถึงจะค่อย ๆ ยุบ และในบางรายจะมีอาการบวมในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึก ปวด แน่นท้อง หรือบางรายจะมีอาการในระบบทางเดินหายใจ ทำให้แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก และหากมีอาการรุนแรงมาก อาจทำให้เสียชีวิตได้

ผื่นลมพิษอันตรายหรือไม่ | ประกันออนไลน์  | รู้ใจ

ลมพิษมีกี่ประเภท?

ลมพิษสามารถแบ่งได้ตามระยะการเกิด โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

  1. ลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria) อาการลมพิษจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
  2. ลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticartia) มักจะมีอาการลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ และเกิดขึ้นแบบนี้ต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์

โรคลมพิษอันตรายหรือไม่?

ผื่นลมพิษโดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่หากมีอาการรุนแรงก็อาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วอาการของลมพิษทั่วไปจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับคนที่เป็นลมพิษเรื้อรัง อาจจะสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องทำการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคไม่ให้มันกำเริบ และเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมกับไม่ลืมที่จะออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ 

เป็นลมพิษเกิดจากอะไร?

ผื่นลมพิษเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และอาจหาสาเหตุไม่ได้อีกด้วย โดยสาเหตุที่พบบ่อยของโรคลมพิษมีดังนี้

  1. อาหาร เช่น อาหารทะเล อาหารที่ใส่สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
  2. ยาบางชนิดที่ร่างกายแพ้
  3. การติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือการมีพยาธิ
  4. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์
  5. อิทธิพลทางกายภาพ เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดลมพิษจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองต่อความร้อน ความเย็น แสงแดด การออกกำลังกาย หรือน้ำหนักกดรัด เป็นต้น
  6. แพ้สารบางชนิด ลมพิษที่เกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ เช่น แพ้ยา ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด
  7. มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
  8. ระบบภูมิคุ้มกันตัวเองต่อต้านตัวของมันเอง ในผู้ป่วยลมพิษบางราย ระบบภูมิคุ้มกันอาจจะไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
  9. ลมพิษที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง แม้จะพยายามหาสาเหตุการเกิดโรคแล้วก็ตาม แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ อาจเป็นไปได้ว่าความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันอาจยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะหาสาเหตุของโรคได้
  10. ผื่นลมพิษที่เกิดจากการแพ้พิษจากแมลง เช่น ผึ้ง ต่อหรือในบางคนที่แพ้ยุง 

หนึ่งในสาเหตุของผื่นลมพิษ คือ ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย รู้มั้ย? ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลก็คุ้มครองแมลงสัตว์กัดต่อย ไม่ว่าอุบัติเหตุเล็กน้อยอย่างหกล้ม ที่หนีบผมโดนหู โทรศัพท์ตกใส่ รวมไปถึงอุบัติเหตุใหญ่อย่างรถชนด้วยเช่นกัน ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่รู้ใจ ให้คุณเลือกปรับแผนได้เองตามไลฟ์สไตล์ ซื้อออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ลมพิษจากแมลงกัด แบบนี้ประกันอาจคุ้มครองและไม่คุ้มครอง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรายละเอียดกรมธรรม์ของแต่ละบริษัทประกันภัย

อาการลมพิษแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

ผื่นลมพิษเมื่อเป็นแล้วอาจไม่ใช่ครั้งแรกของใครหลาย ๆ คน จนอาจนิ่งนอนใจและคิดว่าอาการลมพิษจะสามารถหายไปเองได้ แต่หากคุณมีอาการต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์

  • หากผื่นลมพิษไม่หายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์
  • พาตัวส่งโรงพยาบาลทันทีที่อาการเริ่มมีความรุนแรง
  • มีอาการปวดตามข้อ มีไข้ อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการเจ็บบริเวณผื่นที่ขึ้นร่วมด้วย 
  • อาการลมพิษเฉียบพลัน หากรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไมีสะดวก ปวดท้อง หน้าบวม ตาบวม ปากบวม ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพราะอาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการเกิดอาการหอบหืด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
  • ลมพิษที่ขึ้นตามตัวทำให้เกิดอาการวิตกกังวล จนส่งผลต่อสุขภาพจิตและการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์โดยด่วน 
วิธีแก้ลมพิษด้วยการดูแลตัวเอง | ประกันออนไลน์  | รู้ใจ

วิธีการรักษาลมพิษ

ลมพิษรักษายังไง? สำหรับผู้ป่วยโรคลมพิษจะมีวิธีรักษาและวิธีแก้ลมพิษ ดังนี้

  1. พยายามสังเกตตัวเองหากเกิดลมพิษ หากทำได้ พยายามหาสาเหตุของการเกิดและหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำ
  2. ลมพิษรักษาด้วยการใช้ยาต้านฮีสตามีน (ยาแก้แพ้) การตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีนของผู้ป่วยแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน บางรายใช้ยาตัวเดียวก็รักษาได้ผลดี แต่บางรายอาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มอื่น ๆ หรือต้องใช้ยาแก้ลมพิษหลายตัวร่วมกัน เพื่อควบคุมอาการ 
  3. กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ผื่นไม่ตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน แพทย์อาจใช้ยาแก้ลมพิษตัวอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง และหลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการให้เกิดลมพิษ

วิธีแก้โรคลมพิษอย่างง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเอง

เมื่อเป็นผื่นลมพิษ มีวิธีแก้โรคลมพิษอย่างง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเอง ดังนี้

  1. ไม่ควรแคะ แกะ เกา บริเวณที่มีผื่นลมพิษ เพราะอาจทำให้เป็นแผลหนักขึ้นและเป็นแผลติดเชื้อได้
  2. ทาคาลาไมน์หรือทาครีม/โลชั่นตัวอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของเมนทอล
  3. หลีกเลี่ยงการทำให้ผิวแห้ง อย่างการอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน
  4. งดใช้สารเคมีใด ๆ บนผิว เช่น สบู่ น้ำหอม ยาสระผม ครีมบำรุงผิว
  5. กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและนอนหลับให้เพียงพอ
  6. ไม่ต้องเครียดจนเกินไป โดยทั่วไปผื่นลมพิษจะยุบลงได้ใน 24 ชม.

การดูแลร่างกายตัวเองอยู่เสมอ ทั้งการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อน จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรค อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดผื่นลมพิษขึ้นมา เราควรรู้วิธีแก้ลมพิษ ดูแลตัวเองเป็นอย่างดี และควรรู้วว่าเมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อตัวเราเอง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

เฉียบพลัน เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงมาก (มักใช้กับอาการของโรค)
ยาต้านฮีสตามีน รู้จักกันในชื่อ ยาแก้แพ้ ช่วยบรรเทาอาการแพ้แบบไม่รุนแรง ใช้กับอาการของโรค เช่น ลมพิษ คัดจมูก ไอ จาม