Roojai

อาการ Long Covid คืออะไร โควิด 19 ทำลายปอดยังไง อ่านก่อน ป้องกันก่อน

โควิด 19 ทำลายปอดยังไง | รู้ใจ

ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มาตั้งแต่ปลายปี 2562 นับจากวันนั้นมาถึงตอนนี้ก็เกือบ 3 ปีแล้ว เราจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะแยะในช่วงเวลานั้น เช่น “การระบาดใหญ่” (pandemic) และ “ล็อกดาวน์” (lockdown) 2 คำนี้ คือคำศัพท์ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคำศัพท์แห่งปี 2020 ของพจนานุกรมภาษาอังกฤษเมอร์เรียม-เว็บส์เตอร์ และพจนานุกรมคอลลินส์ (อ้างอิงจาก BBC News) ส่วนประโยคติดปากช่วงโควิด 19 ระบาดในบ้านเราก็จะมีประโยค “การ์ดอย่าตก”, “เว้นระยะห่าง” หรือ แม้กระทั่ง “กินร้อนช้อนกลาง” เรามาย้อนดูวิวัฒนาการความน่ากลัวของไวรัสโควิด 19 นี้กัน

โควิด 19 เริ่มขึ้นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตอนนั้นมี 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ S และสายพันธุ์ L หลังจากนั้นก็ได้แพร่ระบาดออกนอกประเทศจีน สายพันธุ์ L จะแพร่กระจายได้เร็วกว่า ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมออกมาสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนทั่วโลก

หลังจากที่โควิด 19 พัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า โอมิครอน สายพันธุ์แพร่กระจายได้เร็วแต่ความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตมีอยู่บ้างแต่ไม่มาก แต่ถ้าเกิดกับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับปอด ยังไงการติดเชื้อโควิด 19 ก็ยังมีความเสี่ยงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ระดับความรุนแรงของโควิด 19 | รู้ใจ

ระดับความรุนแรงของโควิด 19 ในแต่ละสายพันธุ์เป็นอย่างไร?

  1. สายพันธุ์อังกฤษ – สายพันธุ์อัลฟ่า B.1.1.7 สายพันธุ์นี้สามารถเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ถึง 40-70%
  2. สายพันธุ์แอฟฟริกาใต้ – สายพันธุ์เบต้า B.1.351 สายพันธุ์นี้ระบาดอย่างรวดเร็ว เชื้อแพร่ได้ไวขึ้นราว 50% และสายพันธุ์นี้ยังทำให้แอนติบอดี้ของเราประสิทธิภาพลดลงด้วย
  3. สายพันธุ์บราซิล – สายพันธุ์แกมม่า P.1 สายพันธุ์นี้โหดและรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ มันมีความสามารถเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของเราได้และยังลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่เราฉีดไปอีกด้วย
  4. สายพันธุ์อินเดีย – สายพันธุ์เดลต้า B.1.617 ตัวนี้ระบาดเร็ว แพร่เชื้อได้ค่อนข้างง่ายและยังสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายเราได้
  5. สายพันธุ์โอไมครอน – หรือโอมิครอน (Omicron หรือ B.1.1.529) สายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศไทย เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น บวกกับไม่ค่อยแสดงอาการติดเชื้อที่ชัดเจนเท่าสายพันธุ์อื่น ๆ โควิด 19 สายพันธุ์โอไมครอนอาจจะแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา และส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลง แม้ว่าตัวเชื้อของสายพันธุ์นี้จะไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ด้วยความที่มันแพร่เร็วและไม่แสดงอาการ จึงอาจจะพูดได้ว่าสายพันโอไมครอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่คนทั่วโลกต้องพึงระวังเอาไว้ด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า โควิด 19 ไม่เลือกคน มันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพศไหน อายุเท่าไหร่ สามารถติดเชื้อโควิด 19 ได้หมด และมันมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว แม้คนที่ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำหรือคนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ตาม

อาการ Long Covid ที่เกิดขึ้นหลังหายจากโควิด 19 เป็นอย่างไร?

  • เจ็บหน้าอก / เจ็บคอ
  • หายใจไม่สุด
  • อาการผิดปกติเกี่ยวกับช่องท้อง เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย
  • เหนื่อยง่าย
  • นอนหลับยาก
  • ปวดข้อ
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสมอง เช่น เวียนศีรษะ

อาการเหล่านี้เรียกว่า อาการ Long Covid โดยที่คนไข้หลังจากหายจากโควิด 19 แล้ว 90-180 วัน อาจจะมีความเสี่ยงเกิดอาการเหล่านี้กลับมาได้อีก เราจึงจำเป็นต้องกลับไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้งหลังจากหายจากโควิด 19 ว่ามีส่วนใดของร่างกายเราบ้างที่ได้รับความเสียหาย และหาทางแก้ไขต่อไป

ผลเสียระยะยาวของโควิด 19 หรือ อาการ Long Covid | รู้ใจ

แน่นอนว่าโควิด 19 นี้ไม่ได้ทิ้งแค่อาการ Long Covid ไว้ให้เราอย่างเดียว มันยังไปทำลายปอดดี ๆ ของเราให้เสียหาย โดยพวกมันจะทิ้งแผลเป็นหรือพังผืดต่าง ๆ ในเนื้อปอดของเรา ซึ่งการกู้คืนปอดให้กลับมาสภาพดี 100% นั้นเป็นไปได้ยาก
ช่วงการฟื้นฟูปอดหลังหายจากโรคโควิด 19 จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  • ช่วง 2 สัปดาห์แรก – หลังหายจากโรคโควิด 19 สิ่งที่จะพบคือ ยังสามารถตรวจพบฝ้าขาวที่ปอดในฟิล์มเอกซเรย์ได้อยู่ แต่มีปริมาณน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ติดเชื้อ
  • ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 – หลังหายจากโรคโควิด 19 แล้ว ร่างกายมีการฟื้นฟูกลับมาบ้างแล้ว แต่จะยังมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น ไม่แข็งแรง หรือไม่กระปรี้กระเปร่าเท่าเดิม

วิธีฝึกบริหารปอดหลังหายจากโรคโควิด 19 ทำได้อย่างไรบ้าง?

  1. เริ่มฝึกหายใจใหม่อีกครั้ง – เนื่องด้วยพังผืดที่เกาะที่ผนังปอดมีความแข็ง ทำให้เราต้องฝึกหายใจใหม่ การฝึกหายใจนี้จะช่วยให้พังผืดที่เกาะที่ผนังปอดมีความยืดหยุ่นและนุ่มขึ้น โดยการออกแรงในการหายใจเข้าทางจมูกจนสุด และค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ จนลมหมดปอด ทำซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ
  2. การบริหารปอด – ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการแพทย์เข้ามาช่วย เครื่องมือนี้มีชื่อว่า Triflow วิธีการก็คือ แพทย์จะให้คนไข้ดูดลูกปิงปองที่มีทั้งหมด 3 ลูก ใน 3 ช่อง ซึ่งลูกปิงปองจะลอยขึ้นกี่ลูกก็ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของปอดคนไข้ การดูดลมเข้าปอดโดยใช้เครื่อง Triflow นั้นจะทำให้ปอดขยายเต็มที่ ช่วยให้ปอดมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ตามลำดับ
  3. ออกกำลังกายเบา ๆ – หลังหายจากโรคโควิด 19 ประมาณ 3 สัปดาห์ ช่วงนี้ร่างกายอาจจะยังมีอาการอ่อนเพลียอยู่ แต่ปอดอาจจะเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว ดังนั้น ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การลุกเดินบ่อย ๆ พอร่างกายเริ่มชินแล้วค่อยขยับไปจากเดินในบ้าน ลองออกไปเดินนอกบ้านดูบ้าง Jogging ดูบ้าง ค่อย ๆ ดูอาการเป็นระยะ ๆ
บริหารปอดหลังหายจากโรคโควิด 19 | รู้ใจ

อีกไม่นานนี้ โรคโควิด 19 น่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นของบ้านเราแล้ว ซึ่งโรคประจำถิ่นก็คือโรคที่เกิดขึ้นประจำในพื้นที่นั้น ๆ เช่น ไข้เลือดออกในประเทศไทย โรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา เป็นต้น นั่นหมายความว่า ในอนาคตเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิด 19 เสมือนว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไข้หวัด

การเตรียมร่างกายให้พร้อม แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เข้าไปอยู่ในที่สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อโควิด 19 ได้ และที่สำคัญควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจมากขึ้นกว่าเดิม
ติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และสุขภาพ รวมถึงโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจ ประกันออนไลน์ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai