Roojai

มะเร็งโพรงจมูก ภัยเงียบอันตราย เริ่มต้นเหมือนหวัด

มะเร็งโพรงจมูก | ประกันมะเร็ง | รู้ใจ

มะเร็งโพรงจมูก แม้จะเป็นโรคมะเร็งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันสักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องตระหนักถึงความน่ากลัวและความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงจมูก เพราะหนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งโพรงจมูกคือฝุ่น PM2.5 ที่ต้องเจอแทบทั้งปี ใครที่อยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ เชียงใหม่ยิ่งมีความเสี่ยง เพราะทุกครั้งที่หายใจก็จะนำฝุ่นเข้าไปด้วย ในขณะที่สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ดูเหมือนจะแย่ลงขึ้นทุกปี ภัยที่แฝงมากับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่มันยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงจมูกอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจมูก เรามาดูกันว่านอกจาก PM2.5 แล้ว จะมีอาการอย่างไร แตกต่างจากไซนัสอักเสบหรือโพรงจมูกอักเสบเหมือนที่หลายคนสงสัยมั้ย อะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของมะเร็งโพรงจมูก วิธีสังเกตอาการ การวินิจฉัย การรักษามะเร็งโพรงจมูกและวิธีป้องกัน เรียนรู้ไปด้วยกันเลย

มะเร็งโพรงจมูกคืออะไร?

มะเร็งโพรงจมูกจะเกิดขึ้นที่บริเวณหลังโพรงจมูก โดยโพรงจมูกจะมีลักษณะเป็นโพรงกว้างอยู่ทางด้านหลังของจมูกซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังลำคอ ทำให้ตำแหน่งนี้จะมีสารบางอย่างไหลผ่านเข้าไปได้โดยง่าย เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นพิษต่าง ๆ หรือสารที่เกิดจากการเผาไหม้ มะเร็งโพรงจมูก เกิดจากการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ หรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเซลล์ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขี้นนี้ ก่อให้เกิดเนื้อร้าย ที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ แต่ในบางกรณี เซลล์ที่ผิดปกติก็ไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเสมอไป อาจเป็นแค่โรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกที่โพรงจมูกแค่นั้น ตามหลักแล้ว มะเร็งโพรงจมูกจะเกิดขึ้นได้ยาก มักจะพบในผู้ชายที่มีอายุ 50 – 60 ปี

มะเร็งโพรงจมูกสาเหตุเกิดจากอะไร?

มะเร็งโพรงจมูกเกิดจากการที่เซลล์ต่าง ๆ ในโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกเกิดความผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งโพรงจมูกมาจากอะไร แต่สามารถบอกได้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ เช่น การสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีส่งผลให้เซลล์พัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ และยังมีปัจจัยอื่นอีกดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus)
  • ความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม พบมากในบริเวณ South East Asia โดยเฉพาะจีนตอนใต้และฮ่องกง
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ที่หมักดองเป็นเวลานาน ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน ซึ่งมีสารที่ชื่อว่าไนโตรซามีนเป็นสารก่อมะเร็ง หากสูดดมสารนี้เข้าไปและไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์
  • การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพ เช่น ฝุ่นจากไม้หรือขี้เลื่อย ฝุ่นหนัง ฝุ่นสิ่งทอ บุหรี่ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ สารประกอบนิกเกิล ฟอร์มาลดีไฮด์ และโครเมียม

มะเร็งโพรงจมูกอาการเป็นยังไง?

ในระยะแรก จะไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่ชัดเจน เช่น คัดจมูก เลือดออกทางจมูก ปวดหัว หูอื้อ ซึ่งอาจเป็นอาการที่มักถูกมองข้าม อาจจะมารู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อเนื้องอกขยายใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกแล้วหรือตรวจเจอในระยะสุดท้าย ทำให้การดูแลผู้ป่วยค่อนข้างทำได้ยาก สามารถสังเกตอาการได้ดังต่อไปนี้

  • เลือดกำเดาไหล
  • น้ำมูกไหล หรือระบายจากด้านหลังของจมูกเข้าไปในลำคอ
  • มีลักษณะของก้อนแข็ง ๆ บริเวณใบหน้า เพดานปาก หรือภายในจมูก
  • ปวดหัว และปวดโพรงจมูก
  • หูอื้อ ข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปวดบริเวณเหนือดวงตาหรือใต้ตา
  • ตาแฉะมาก จนมีน้ำตาไหล
  • ตาข้างใดข้างหนึ่งโป่งนูน
  • ชา หรือปวดและบวมบริเวณใบหน้า และแก้มส่วนบน
  • มีปัญหาเวลาอ้าปาก
  • ฟันโยก หรือ ชา
  • ความพอดีของการใส่ฟันปลอมไม่เหมือนเดิม
  • ลักษณะการพูดที่เปลี่ยนไป
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบคอบวม
  • สูญเสียการได้ยิน
อาการมะเร็งโพรงจมูก | รักษามะเร็ง | ประกันมะเร็ง | รู้ใจ

การวินิจฉัยมะเร็งโพรงจมูก

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือคลำเจอก้อนที่ลำคอร่วมกับรู้ตัวว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยดังนี้

  • ซักประวัติ อาชีพ ประวัติครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • ตรวจร่างกาย คลำต่อมน้ำเหลือง
  • ส่องกล้อง
  • ทำ CT Scan
  • ทำ MRI
  • การเอกซเรย์
  • การทำ PET Scan
  • การสแกนกระดูก
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
  • การตรวจสารเคมีในเลือด
  • การเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ

วิธีการรักษามะเร็งโพรงจมูก

  • การผ่าตัด – สามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดและการส่องกล้องผ่าตัด วิธีนี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรก ๆ ที่เซลล์มะเร็งยังไม่กระจายตัว
  • การบำบัดด้วยรังสี – เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็งและใช้ลดขนาดของก้อนเนื้องอกก่อนการผ่าตัด
  • การใช้เคมีบำบัด – ใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหลังการผ่าตัด โดยการลดขนาดหรือชะลอการเติบโตของเนื้องอก
  • การบำบัดด้วยรังสีและเคมีบำบัด – มักจะใช้เป็นตัวเสริมหลังจากการผ่าตัด เพื่อให้การรักษาดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วิธีป้องกันมะเร็งโพรงจมูก

โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกจะไม่ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงส่งผลให้ทางการแพทย์ไม่สามารถหาวิธีป้องกันมะเร็งโพรงจมูกได้ทั้งหมด สามารถแนะนำวิธีป้องกันเบื้องต้นได้ เช่น

  • เลี่ยงหรืองดการสูบบุหรี่
  • หากต้องออกนอกบ้านในสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น
  • หากต้องทำงานในสถานที่เสี่ยง เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ควรสวมหน้ากากป้องกัน
  • เลี่ยงการสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างละเอียดทุกปี

รอบ ๆ ตัวเราทุกวันนี้ มีแต่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงด้วยกันทั้งสิ้น การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมถึงดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีก็ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ นอกจากนั้นการทำประกันมะเร็งยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคุณลดความเสี่ยงทางการเงินในวันที่เกิดโรคไม่ให้เสียเงินเก็บไปกับค่ารักษาพยาบาลจนหมด ที่รู้ใจมีประกันมะเร็ง เจอ จ่าย จบ รับเงินก้อนสูงสุด 3 ล้านบาทเมื่อตรวจเจอมะเร็ง ทุกชนิด ทุกระยะ ให้คุณอุ่นใจใช้ชีวิตต่อได้ไม่มีสะดุด

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)