Roojai

อัปเดต 2566 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม

โรงพยาบาลประกันสังคม | เปลี่ยนโรงพยาบาล | ประกันโรคร้ายแรง | รู้ใจ

มนุษย์เงินเดือนและพนักงานออฟฟิศคงคุ้นเคยกันดีกับสิทธิประสังคมที่เราต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมกันทุกเดือน เพื่อเป็นหลักประกันและช่วยคุ้มครองเราในกรณีที่เราว่างงาน คลอดลูก เกษียณ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รวมถึงความคุ้มครองอื่น ๆ ที่ประกันสังคมคุ้มครอง และเชื่อว่าหลายคนเมื่อย้ายงานกลับต่างจังหวัด หรือย้ายงานไกลจากโรงพยาบาลเดิมที่เราเลือกไว้ ก็ต้องการที่จะเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม วันนี้รู้ใจเลยนำข้อมูลข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับเรื่องควรรู้ก่อนเปลี่ยนโรงพยาบาล ทั้งประกันสังคมมีกี่แบบ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างถึงสามารถเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ เปลี่ยนโรงพยาบาลได้เมื่อไหร่ เปลี่ยนผ่านออนไลน์ได้มั้ย รู้ใจรวบรวมทุกคำตอบมาฝากกัน

ประกันสังคมมีกี่แบบ?

ประกันสังคมมีทั้งหมด 3 มาตรา ดังต่อไปนี้

1. ประกันสังคมมาตรา 33

เป็นสิทธิ์ที่เรารู้จักกันดีสำหรับพนักงานออฟฟิศ สิทธิประโยชน์ที่ได้จากมาตรานี้คือ 

  • คุ้มครองเนื่องจากการเจ็บป่วย (ต้องจ่ายค่าเบี้ยไม่น้อยกว่า 3 เดือน) เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง ตลอดไปจนถึงเข้ารับการผ่าตัดในโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนได้เลือกไว้ แต่หากเกิดเหตุด่วนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น สามารถนำใบเสร็จมาเบิกได้
  • ได้เงินบำเหน็จหรือบำนาญ หลังจากเกษียณ
  • ได้เงินชดเชย กรณีว่างงาน
  • ได้เงินชดเชย กรณีทุพพลภาพ
  • ได้เงินชดเชย กรณีคลอดลูก
  • ได้เงินชดเชย กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต

2. ประกันสังคมมาตรา 39 

เมื่อเราลาออกจากงานประจำแล้ว แต่ยังมีความประสงค์อยากจะรับสิทธิประกันสังคมต่อ สามารถสมัครมาตรา 39 ได้ จากที่เคยจ่ายเบี้ยเดือนละ 750 บาท จะเหลือเดือนละ 432 บาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหมือนมาตรา 33 ทุกข้อ ยกเว้นเงินชดเชยกรณีว่างงาน

3. ประกันสังคมมาตรา 40 (สำหรับฟรีแลนซ์)

สำหรับอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 สามารถสมัครมาตรา 40 ได้ โดยมี 3 ทางเลือก คือ 70 บาทต่อเดือน 100 บาทต่อเดือน และ 300 บาทต่อเดือน โดยแต่ละแบบจะมีอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ลดหลั่นกันไป

สำหรับผู้ประกันตนทุกคนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้และหากย้ายที่ทำงานแล้วต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลให้ใกล้กับที่ทำงานใหม่ ก็สามารถเปลี่ยนได้เช่นกัน แต่การเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนได้แบบตามใจฉัน จะมีช่วงเวลาสำหรับการเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นข้อบังคับอยู่ เปลี่ยนได้ช่วงไหนบ้าง ใช้เวลากี่วัน อ่านด้านล่างเลย

เปลี่ยนรพ.ประกันสังคม | ประกันมะเร็ง | รู้ใจ

เรื่องต้องรู้ก่อนเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคม

ก่อนเปลี่ยนโรงพยาบาลในเครือประกันสังคม ผู้ประกันตนต้องมีคุณสมบัติครบ 3 ข้อดังนี้

  1. ต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39
  2. ต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในเวลา 15 เดือนก่อนเริ่มใช้สิทธิรักษาพยาบาล
  3. บุคคลที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลต่อได้อีก 6 เดือน

การเปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมสามารถเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง โดยมีระยะเวลาในการเปลี่ยนคือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคมของทุกปี

เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมระหว่างปีได้มั้ย?

สำหรับการเปลี่ยนโรงพยาบาลระหว่างปี ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จะย้ายบ้านหรือเปลี่ยนที่ทำงาน สามารถเปลี่ยนได้แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยื่นเรื่องภายใน 30 วันหลังจากที่ย้ายบ้านหรือย้ายที่ทำงาน

เปลี่ยนโรงพยาบาลประกันสังคมผ่านออนไลน์ได้มั้ย?

การย้ายโรงพยาบาลประกันสังคม สามารถทำผ่านช่องทางออนไลน์หรือจะยื่นเรื่องไปที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ว่าผู้ประกันตนจะสะดวกแบบไหน ซึ่งกระทรวงเเรงงานมีวิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลให้ผู้ประกันตนได้เลือกถึง 4 ช่องทาง

  • ยื่นแบบฟอร์ม สปส.9-02 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทุกแห่งทั่วประเทศ
  • เปลี่ยนโรงพยาบาลโดยยื่นผ่านระบบออนไลน์ที่ www.sso.go.th 
  • เปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านแอปพลิเคชั่น SSO Connect
  • เปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านช่องทาง Line Official : @ssothai 

สะดวกยื่นเรื่องเปลี่ยนโรงพยาบาลช่องทางไหน สามารถเลือกได้เลยตามความสะดวก หากผู้ประกันตนยื่นเปลี่ยนโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 1 – 15 ในเดือนนั้น ๆ ก่อนเวลา 16.30 น. จะสามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้ในวันที่ 16 ของเดือนนั้นได้เลย แต่หากเป็นการเปลี่ยนโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 16 – สิ้นเดือน ก่อน 16.30 น. จะสามารถใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลได้ในวันที่ 1 ของเดือนถัดไป 

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ต้องรู้ก่อนเปลี่ยนสถานพยาบาลประกันสังคม สำหรับใครที่กำลังจะเปลี่ยนโรงพยาบาลสามารถทำได้เลยในช่วงนี้ และสามารถวางแผนการซื้อประกันภัยเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประกันโรคร้าย ประกันมะเร็ง หรือประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อความครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล การซื้อประกันภัยเพิ่มเติมยังเป็นอีกทางที่ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้อีกด้วย 

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)