Roojai

เจาะลึก! สัญญาณไฟรถยนต์กำลังบอกอะไร? ใช้ยังไงไม่ให้เสียมารยาท?

ขับรถ | ไฟสัญญาณรถยนต์ | ประกันรถยนต์ | รู้ใจ

หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการขับรถคือการกะพริบไฟสัญญาณรถยนต์จากเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นคันข้างหน้า คันข้างหลัง รวมไปถึงรถที่วิ่งสวนมาจากฝั่งตรงข้าม เขากำลังต้องการบอกอะไรคุณ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่มีบทบัญญัติเอาไว้อย่างเป็นทางการ เป็นแต่เพียงธรรมเนียมปฏิบัติที่มีการสร้างขึ้นจนเกิดเป็นรูปแบบการแจ้งสัญญาณในแต่ละประเภทอย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน 

แล้วใครเป็นผู้กำหนดการใช้ไฟสัญญาณประเภทต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นมากันล่ะ เพราะเอาเข้าจริงแล้วไม่มีการตราเป็นรูปแบบการใช้งานจากทางกรมขนส่งทางบกว่า การกะพริบไฟสัญญาณ หรือการให้สัญญาณเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไร จากการค้นหาและสอบถาม เชื่อว่ากลุ่มผู้ขับรถกลุ่มแรกที่เป็นผู้ริเริ่มใช้สัญญาณไฟกะพริบสำหรับการแจ้งสถานการณ์ต่าง ๆ คือ กลุ่มผู้ขับรถบรรทุกนั่นเอง เนื่องจากรถบรรทุกมีมุมอับหลายจุด และด้วยขนาดที่ใหญ่ยังสร้างมุมอับในการสังเกตการณ์ให้กับรถที่ตามหลังมาด้วย 

ดังนั้น การเปิดสัญญาณไฟในรูปแบบต่าง ๆ จึงกลายเป็นรูปแบบการแจ้งสัญญาณเฉพาะตัวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ขับขี่ปลอดภัย โดยเริ่มจากการเปิดไฟเลี้ยวขวาหรือซ้าย สำหรับการเป็นสัญญาณเพื่อการแซงได้หรือไม่ จนกระทั่งมีสัญญาณอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งรู้ใจขอนำมารวบรวมไว้ให้ทุกคนได้ทราบ ตามนี้เลย

การใช้สัญญาณไฟตามข้อกฎหมาย

สำหรับ ไฟฉุกเฉินรถยนต์ (Hazard Lights) มีชื่อเล่นเรียกขนานนามว่า “ไฟผ่าหมาก” เพราะมันเปิดกันตอนข้ามแยกหรือขอทางแบบฉุกเฉิน แล้วการใช้งานไฟฉุกเฉินที่ถูกต้องที่ถูกระบุเอาไว้ในข้อบังคับของการจราจรว่าตอนไหนที่คุณสามารถเปิดใช้งานได้ และตอนไหนไม่ควรเปิด เพราะบางครั้งอาจสร้างความเข้าใจผิดกับการใช้สัญญาณไฟเฉพาะที่บรรดาเหล่านักขับกำหนดกันขึ้นมาเองได้

โดยข้อบังคับสำหรับการใช้งานสัญญาณไฟกะพริบคือ กรณีที่คุณต้องจอดรถเข้าข้างทางเนื่องจากรถเสีย รวมไปถึงหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและไม่สามารถเคลื่อนย้ายรถออกไปได้ ให้เปิดไฟสัญญาณฉุกเฉินเอาไว้เพื่อเป็นการแจ้งสัญญาณให้กับรถที่ตามหลังมาว่าเกิดเหตุไม่ปกติในเวลานี้ ให้ขับรถด้วยความระมัดระวังและเลี่ยงไปใช้เลนอื่นสำหรับการขับขี่

ข้อห้ามสำคัญสำหรับการเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินคือ ห้ามใช้ในยามฝนตกโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเหตุทำให้รถคันอื่นเข้าใจสถานการณ์ข้างหน้าผิดไปได้ ด้วยคิดว่ามีการซ่อมถนน หรือ ถนนเสีย ทำให้เกิดการเปลี่ยนเลนผิดพลาดกลายเป็นอุบัติเหตุตามมานั่นเอง 

นอกจากนั้น ไม่สามารถใช้ไฟฉุกเฉินในการข้ามแยก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไฟผ่าหมาก เพราะจะทำให้ผู้ใช้ถนนร่วมเกิดความสับสนได้ การใช้งานไฟฉุกเฉินผิดประเภท หรือไม่เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินเมื่อนำรถเสียจอดเข้าข้างทาง ถือว่าผิดกฎจราจรมีโทษปรับในอัตรา 500-1,000 บาท แล้วแต่กรณีไป

ขับรถ | ขับขี่ปลอดภัย | ประกันรถยนต์ | รู้ใจ

การใช้สัญญาณไฟรูปแบบอื่น ๆ

เมื่อคุณได้ทราบถึงรูปแบบของการใช้สัญญาณไฟในรูปแบบไฟกะพริบตามข้อกฎหมายแล้ว คุณยังคงพบเห็นรูปแบบการใช้สัญญาณไฟในรูปแบบอื่น ๆ ระหว่างการเดินทางรวมไปถึงการใช้ไฟสัญญาณกะพริบด้วย สิ่งเหล่านี้มีความหมายอย่างไร รู้ใจรวมความหมายสัญลักษณ์ของสัญญาณไฟในทุกรูปแบบ ดังนี้

1. การเปิดไฟเลี้ยวซ้าย

คือการอนุญาตให้แซง การเปิดไฟเช่นนี้เป็นเพราะรถคันหน้าบดบังการมองเห็นของรถคันหลัง ทำให้ไม่อาจแซงขึ้นไปข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็น รถที่มีน้ำหนักบรรทุกมากกำลังขับขึ้นเนิน หรือ ผู้ขับขี่เลือกใช้ความเร็วต่ำในการเดินทาง จึงเลือกที่จะเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวด้านซ้ายเพื่อเป็นการแจ้งรถคันอื่นว่าสามารถแซงขึ้นไปได้ ทางข้างหน้าปลอดภัยและไม่มีรถสวนมา

2. การเปิดไฟเลี้ยวขวา

คือการส่งสัญญาณเตือนให้รถคันที่ตามมาข้างหลังได้รู้ว่าจังหวะนี้ไม่ควรแซง อาจเป็นเพราะรถคันข้างหน้าต้องการเลี้ยวขวาจริง ๆ หรือ เพราะมีรถสวนมาและไม่มีทางให้รถคันข้างหลังแซงได้ ดังนั้น รถคันข้างหน้าจึงเปิดไฟเลี้ยวขวาเพื่อเป็นสัญญาณบอกรถคันที่ตามมาว่าอย่าเพิ่งรีบแซงนั่นเอง

3. การเปิดไฟเลี้ยวซ้าย-ขวา สลับกัน

สำหรับความหมายของการให้สัญญาณไฟเช่นนี้มีสองรูปแบบ โดยแบบแรกมักเกิดเมื่อแซงรถผ่านไปแล้ว ผู้ที่ขับรถแซงขึ้นไปจะเปิดไฟสัญญาณ เลี้ยวซ้ายขวาสลับกัน ถือเป็นการส่งสัญญาณขอบคุณให้กับรถคันที่ให้แซงที่ช่วยเหลือดูทาง และหลีกทางให้แซงไปได้

ส่วนในอีกกรณี หากรถคันหน้าจู่ ๆ เปิดไฟเลี้ยวซ้าย-ขวา สลับไปมาในทันที นั่นหมายถึงการส่งสัญญาณเตือนมายังรถคันหลังว่า มีเหตุไม่ปกติข้างหน้า อาจเป็นช่องทางการจราจรที่ปิดตัว หรืออาจมีการเปลี่ยนเลนของรถคันหน้า เมื่อเห็นสัญญาณไฟเช่นนี้แล้ว ผู้ขับขี่รถควรชะลอความเร็ว และเพิ่มความระมัดระวังในการเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้กว้างมากขึ้นเพื่อสามารถหยุดรถได้ทันท่วงที

ขับรถ | ขับขี่ปลอดภัย | แซง | รู้ใจ

4. การเปิดไฟสูงระหว่างที่ผู้ขับรถกำลังแซงขึ้นไป

ถือเป็นน้ำใจระหว่างการเดินทาง คือ รถคันที่ถูกแซงเปิดไฟสูงเพื่อเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นให้รถที่กำลังแซงขึ้นไปข้างหน้า และเมื่อแซงเสร็จแล้วและเลื่อนรถกลับเข้ามายังเลนเดิมก็จะทำการปิดไฟสูงนั่นเอง

5. หากรถคันหน้ากะพริบไฟสูงใส่

มีความหมายได้หลายประการมาก ไม่ว่าจะเป็น คุณกำลังเปิดไฟสูงค้างเอาไว้และไฟสูงนี้รับกวนการขับรถของผู้ขับฝั่งตรงข้าม จำต้องเปลี่ยนสวิตช์จากไฟสูงมาเป็นไฟต่ำ แต่ถ้าเป็นการกะพริบไฟถี่ ๆ รัว ๆ หรือ ดับไฟรถแล้วเปิดใหม่ มักเป็นการส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่าข้างหน้ามีด่าน ผู้ขับรถต้องขับรถด้วยความระมัดระวังอย่างสูงนั่นเอง

แต่ถ้าบางกรณีที่คุณขับรถสวนกันและอีกฝั่งเปิดไฟสูงครั้งเดียว นั่นคือ การทักทายกันระหว่างการขับรถ เป็นการตรวจสอบดูว่า รถฝั่งตรงข้ามหลับในหรือไม่ อีกทั้งอาจเป็นคำถามต่อเนื่องว่าทางข้างหน้ามีด่านหรือไม่ ซึ่งตามมารยาทในการขับรถเราควรทำการกะพริบไฟตอบกลับไป 1 ครั้งเมื่อการขับรถของเราเป็นไปด้วยภาวะปกติ

6. การกะพริบไฟขณะกลับรถ

ขณะที่เรากำลังจะกลับรถ หรือมีรถบรรทุกขนาดใหญ่กำลังจะกลับรถ การตีสัญญาณไฟหนึ่งครั้งเป็นการแจ้งสัญญาณให้เราผ่านไปก่อนได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่รถบรรทุกตีสัญญาณไฟสองครั้ง หมายความว่า เขากำลังขอทางซึ่งตามมารยาทในการขับรถแล้วเราควรให้ทางแก่เขานั่นเอง

สัญญาณไฟที่ถูกกำหนดมาโดยเฉพาะจากบรรดานักขับ แม้ไม่มีข้อตกลงเรื่องการใช้งานอย่างชัดเจน แต่สามารถเข้าใจได้ไม่ยากว่ามีความหมายอย่างไร และเชื่อว่าในอนาคตยังจะมีสัญญาณไฟในรูปแบบอื่นมาเป็นคำถามปริศนาให้คุณได้เรียนรู้อีกด้วย และนอกจากการเรียนรู้สัญญาณไฟรถยนต์แล้ว การทำประกันภัยรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ เพราะหลายคนอาจยังไม่รู้ถึงการตีความสัญญาณไฟหมายถึงอะไร อาจเกิดความเข้าใจผิดแล้วนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ การมีประกันภัยรถยนต์ติดไว้ จะช่วยเชฟการเงินของเราในวันที่เกิดเหตุไม่คาดคิด หากไม่รู้จะเริ่มต้นดูกรมธรรม์สำหรับรถยนต์อย่างไร ให้รู้ใจช่วยตีความและหาทางเลือกเพื่อความคุ้มครองที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)