Roojai

พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่หลายคนไม่รู้ว่า ไม่ควรทำ! เวลาขับรถ

พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่ไม่ควรทำ! เวลาขับรถ | รู้ใจ

การขับรถนอกจากจะเป็นเรื่องของเทคนิคและทักษะในการขับขี่แล้ว ยังมีเรื่องของมารยาททางสังคมด้านการขับขี่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย และเรื่องราวของมารยาทด้านการขับรถบางอย่างยังเกี่ยวข้องกับการขับขี่ปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น ๆ ด้วย พฤติกรรมการใช้รถยนต์จึงเป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่ควรให้ความสำคัญ

เพื่อการขับขี่ปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพิ่มความอุ่นใจให้กับทุกคนที่ใช้รถ รู้ใจสรุปออกมาเป็น 8 พฤติกรรมการใช้รถยนต์ ที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำเวลาขับรถ ถ้าทำตามนี้ รับรองว่าช่วยเพิ่มการขับขี่ปลอดภัยและลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้อย่างแน่นอน มาร่วมกันสร้างการขับขี่ปลอดภัยง่าย ๆ ด้วยตัวเราเองกันดีกว่าในบทความนี้

อุบัติเหตุทางรถยนต์ 1 | รู้ใจ

8 พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่ “ไม่ควรทำ” มีอะไรบ้าง?

สำหรับการใช้รถยนต์ที่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษคือ “สิ่งที่ไม่ควรทำบนท้องถนน” ซึ่งหลายครั้งด้วยความที่ว่า “ฉันขับรถมานานแล้ว ฉันมีประสบการณ์มากพอ ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรอก” ความคิดแบบนี้อาจเป็นสิ่งที่ผิดและมักมีผลลัพธ์แย่ ๆ ตามมาด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทั้งสิ้น จากพฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ รู้ใจได้สรุปออกมาเป็น 8 พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำอย่างยิ่งมานำเสนอให้กับคุณผู้อ่านทุกคน ดังนี้

1.การใช้เกียร์ที่ไม่เหมาะสม

พฤติกรรมการใช้รถยนต์อย่างแรกที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงว่าอาจมีอันตรายให้เกิดขึ้นจากการขับขี่ นั่นคือ การใช้เกียร์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยให้รถไหลลงไปด้วยเกียร์ว่าง หรือการใช้เกียร์ N ในพื้นที่ลาดชัน ด้วยความคิดที่ว่าจะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการใช้เกียร์รถที่ผิดจังหวะ นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับเครื่องยนต์และระบบเกียร์แล้ว ยังจะส่งผลต่อคุณภาพของการควบคุมรถที่ด้อยลงไปซึ่งอาจหมายถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับตัวคุณเองและผู้อื่นด้วยก็เป็นได้

การใช้เกียร์ ในการขับรถ | รู้ใจ

2.มารยาทการจอดรถบริเวณสัญญาณไฟจราจร

การจอดรถในพื้นที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร หรือพื้นที่ไฟเขียว ไฟแดงนั้น มีกฎกติกาที่ผู้ใช้รถทุกคนควรทราบและมักเป็นเรื่องที่มีการละเลยกันอยู่เป็นประจำ โดยที่พบเห็นส่วนใหญ่คือการขับรถทับเส้นห้ามจอด หรือ เส้นทางม้าลายที่ถูกกำหนดไว้ให้คนข้ามถนน หรือ ความประมาทที่คิดว่าตัวเองคุมรถได้ จึงใส่เกียร์รถสำหรับการจอดที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่ยอมพักรถด้วยการใส่เกียร์ว่าง หรือการใช้เกียร์ N เพราะหวังว่าเมื่อสัญญาณไฟเปลี่ยนจะได้นำรถออกตัวได้ทันที ซึ่งความประมาทเพียงเล็กน้อยเหล่านี้เคยกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตมานักต่อนักแล้ว

การจอดรถในจุดสัญญาณไฟจราจร | รู้ใจ

3.การเปิดกระจกรถขณะที่ขับรถ

สำหรับใครหลายคน อาจมองว่าการขับรถแบบเปิดกระจกรถไม่น่ามีอะไรเสียหาย แถมยังช่วยประหยัดน้ำมันอีกด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การขับรถที่เปิดกระจกรถด้วยการขับเพื่อประหยัดน้ำมันจะต้องขับด้วยความเร็วที่ต่ำ ไม่เกิน 60 กม./ชม. และการขับรถเปิดกระจกรถด้วยความเร็วสูง มักจะสร้างปัญหาตามมาคือ การควบคุมรถที่ยากและยังกินน้ำมันมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้น ผู้ขับรถบางคนชอบเปิดกระจกสูบบุหรี่ที่บางครั้งสะเก็ดไฟจากตัวบุหรี่อาจกระเด็นหลุดออกไป เป็นอันตรายกับผู้อื่นที่ใช้รถขับตามมา โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ อดใจให้ถึงปลายทางค่อยสูบบุหรี่ดี ๆ นอกรถดีกว่า อย่าเปิดกระจกรถแล้วสูบบุหรี่เลย

เปิดกระจกรถ เวลาขับรถ | รู้ใจ

4.การใช้ความเร็วในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างไม่เหมาะสม

พื้นที่แต่ละแห่งมีการกำหนดความเร็วไว้แล้วว่าจะต้องขับที่ความเร็วเท่าไหร่ แต่นักขับจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะละเลย ไม่ใส่ใจ และขับรถตามใจตัวเองอยู่เสมอ โดยทั่วไปแล้ว การขับรถในเขตชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่ หรือในหมู่บ้านตามชนบท กฎหมายอนุญาตให้ขับรถในพื้นที่เหล่านั้นได้ไม่เกิน 60 กม./ชม. และในพื้นที่ทางหลวง มีการกำหนดความเร็วไว้ที่ 90 กม./ชม. สำหรับรถโดยสาร และ 110 กม./ชม. สำหรับรถยนต์ส่วนตัว ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่ถูกละเลยและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นอยู่เสมอกับการขาดความใส่ใจในเรื่องของการใช้ความเร็วที่อาจส่งผลร้ายต่อผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นด้วย

5.ขับรถช้าแต่แช่เลนขวา

เลนขวา คือเลนที่อนุญาตให้ขับเพื่อเปลี่ยนช่องทางสำหรับการแซงรถ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เมื่อแซงรถเสร็จ ผู้ขับรถจะต้องนำรถกลับเข้าสู่เลนทางซ้ายเสมอ แต่ไม่ได้มีข้อบังคับตายตัวสำหรับการขับรถในเลนขวา นอกเสียจากว่าไม่ควรขับรถแช่ที่เลนขวาในขณะที่ตนเองขับช้าจนเกินไป

โดยปกติแล้ว หากคุณขับรถในอัตราเร็ว 70-90 กม./ชม. ควรขับในเลนซ้ายเพื่อเปิดทางให้รถคันอื่นไปได้อย่างสะดวก หรือเปิดพื้นที่ให้กับรถคันอื่นได้แซงขึ้นไปข้างหน้านั่นเอง การขับรถช้าเกินไปและแช่อยู่ในเลนด้านขวามีโอกาสทั้งการสร้างความอึดอัดให้กับผู้ขับรถรายอื่น ๆ และอาจรวมไปถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากการชนท้ายรถ เพราะผู้ขับขี่อีกฝ่ายไม่สามารถกะระยะการขับรถได้อย่างถูกต้องนั่นเอง

ขับรถช้า แช่เลนขวา | รู้ใจ

6.ไม่เปิดสัญญาณไฟตอนจะเปลี่ยนเลน

อีกหนึ่งพฤติกรรมที่มักถูกละเลย เป็นความเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าไม่ต้องทำก็ได้ นั่นคือ การให้สัญญาณไฟสำหรับการเปลี่ยนช่องทางจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีป้ายว่าเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด หรือการต้องการเลี้ยวซ้ายไม่ว่าครั้งใด ผู้ขับขี่บางคน คิดว่าไม่จำเป็นต้องให้สัญญาณไฟก็ได้จึงเลี้ยวรถในช่องทางเหล่านั้นทันที ซึ่งลืมนึกไปว่า ยังมีรถขนาดเล็ก โดยเฉพาะรถจักรยาน หรือ รถจักรยานยนต์ที่ยังวิ่งร่วมในเส้นทางเหล่านั้นอยู่ นั่นหมายถึงอุบัติเหตุทางรถยนต์และรถเล็กเหล่านั้นที่เกิดขึ้นตามมาจากความมักง่ายเพียงน้อยนิดเพราะการไม่ให้สัญญาณไฟในการขับขี่นั่นเอง ดังนั้น เหตุจากความเข้าใจไปเอง หรือความมักง่ายเพียงเล็กน้อย อาจมีบทสรุปที่หมายถึงความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตัวเองและผู้อื่นอีกด้วย

ให้สัญญาณไฟเลี้ยว เวลาขับรถ | รู้ใจ

7.การแซงในพื้นที่ห้ามแซง

การแซงรถ ตามข้อกฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้ แต่การขับรถเพื่อการแซงรถคันอื่นโดยไม่สนใจและใส่ใจผู้ใช้ทางร่วมถือเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรง และอาจสร้างอุบัติเหตุทางรถยนต์ขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับรถยนต์ที่มักมีค่านิยมว่า “รถคันใหญ่ ยังไงรถคันเล็กก็ต้องหลบ” มักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในการขับขี่

ดังนั้น การแซงรถในแต่ละครั้ง ควรให้ความใส่ใจแก่ผู้ร่วมใช้เส้นทางด้วย ไม่ใช่ว่าคิดอยากจะแซงก็แซงไปเลยโดยไม่สนใจผู้อื่น แม้ว่าจะไม่มีเหตุใดเกิดขึ้นกับรถคันนั้น แต่อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ร่วมใช้เส้นทางด้วยกันก็เป็นได้

ขับรถแล้วแซงในพื้นที่ห้ามแซง | รู้ใจ

8.รถที่ขับไม่มีประกันภัยรถยนต์

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ การต่อป้ายทะเบียนรถยนต์จะมาพร้อมกับการทำประกันอุบัติเหตุ หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ. ควบคู่มาด้วยแล้ว แต่สำหรับเจ้าของรถรุ่นเก่าหลายคนที่ขาดการต่อทะเบียนรถยนต์ จะเลือกที่ไม่ไปต่อทะเบียนรถยนต์เพิ่ม นั่นหมายถึงการขาดต่อ พ.ร.บ. ด้วย

สิ่งที่ตามมาก็คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นขึ้นมา นั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่ต้องดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นเหตุที่หลายคนเลือกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งนั่นคือการ “ชนแล้วหนี” เพราะรถของตนเองไม่มี พ.ร.บ. หรือประกันภัยใด ๆ คุ้มครองรถและผู้ร่วมใช้เส้นทาง ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นภาระกับผู้อื่นไปแทน

อุบัติเหตุทางรถยนต์ 2 | รู้ใจ

รู้ใจได้สรุป 8 พฤติกรรมการใช้รถยนต์ที่ “ไม่ควรทำ” เป็นเรื่องที่คุณต้องระมัดระวังและใส่ใจผู้อื่นให้มาก แต่ในหลายเหตุการณ์แม้จะระวังแค่ไหน บางครั้งอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นได้ การทำประกันภัยรถยนต์ให้ครอบคลุมการดูแล ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม และหากคุณต้องการให้การขับรถของคุณเต็มไปด้วยความอุ่นใจและสบายใจ สามารถปรึกษารู้ใจได้ทุกเวลา เราพร้อมตอบทุกความต้องการของคุณอย่างรอบด้าน เพื่อการขับรถที่ปลอดภัยและอุ่นใจที่สุดทั้งสำหรับตัวคุณเองและผู้ร่วมใช้เส้นทางไปกับคุณด้วย

ติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และสุขภาพ รวมถึงโปรโมชั่นใหม่ ๆ จากรู้ใจ ประกันออนไลน์ ได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือ Official Line ID: @roojai ได้เลย