Roojai

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าฟรี! ใครทำได้บ้างพร้อมวิธีดูแลหลังผ่าตัด

ใครสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าฟรีได้บ้าง พร้อมวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

ข้อเข่าเสื่อม ไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเล่นกีฬาบางประเภท หรือสืบทอดกันมาผ่านทางพันธุกรรม ในคนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแล้วจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก จนต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม?

โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าจากการที่ใช้งานมาเป็นเวลานานและสึกหรอตามอายุ ซึ่งผิวกระดูกอ่อนทำหน้าที่เป็นเหมือนเบาะรองรับแรงกระแทก เมื่อกระดูกอ่อนสึกหรอลง เนื้อกระดูกก็จะเสียดสีกัน ส่งผลให้เกิดอาการปวด บวมของเข่า เมื่อเวลาผ่านไปข้อเข่าจะผิดรูป และไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ จนต้องผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมเพื่อเปลี่ยนข้อเข่า ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคนี้

  1. พันธุกรรมและความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่น ขาหรือเข่าผิดรูป
  2. อายุและเพศ อายุที่มากขึ้น ประสิทธิภาพในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนจะลดลง ทำให้มีความเสี่ยงของโรคมากขึ้น ในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงของการเกิดข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชายที่อายุเท่ากัน
  3. ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีประวัติข้อเข่าบาดเจ็บมาก่อน ทั้งจากอุบัติเหตุและการเล่นกีฬา 
  4. การใช้งานข้อเข่าที่มากจนเกินไป เช่น ท่านั่งคุกเข่า หรือท่านั่งยอง ๆ จะทำให้ข้อเข่ารับแรงกดที่สูงกว่าปกติ
  5. ผู้ที่เป็นโรคไขข้ออักเสบ รูมาตอยด์ เกาท์ จะส่งผลให้กระดูกอ่อนถูกทำลายจนหมดไป และทำให้เกิดอาการปวดและข้อติดแข็ง
  6. ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะทำให้ข้อต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเข่าต้องแบกรับน้ำหนัก ทำให้ข้อเข่าเกิดการเสียดสีและสึกกร่อนได้ง่าย 

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ราคาเท่าไหร่?

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมแทนที่ด้วยข้อเข่าเทียมจะแตกต่างกันไป โดยสามารถประมาณราคาได้ดังนี้

  • สำหรับโรงพยาบาลรัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ราคาประมาณ 50,000-100,000 บาท เฉพาะค่าข้อเข่าเทียมอย่างเดียว ไม่รวมการรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 46,000 บาท
  • สำหรับโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ราคาเริ่มต้นจะประมาณ 185,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เลือกเข้ารับการรักษา

ประกันแบบไหนที่ให้ความคุ้มครองการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม?

สำหรับประกันที่ให้ความคุ้มครองในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มีดังนี้ 

  1. สิทธิบัตรทอง – ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ฟรี! 
  2. สิทธิประกันสังคม – ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ฟรี!
  3. ประกันสุขภาพ – ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ส่วนวงเงินคุ้มครองนั้น ขึ้นอยู่กับแผนประกันสุขภาพที่ผู้เอาประกันเป็นคนเลือก เช่น เลือกซื้อแผนประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายปีละ 6 ล้านบาท หากมีประกันสุขภาพแบบนี้อยู่ในมือ คงไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมราคาในรพ.รัฐและเอกชน | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

แต่หากประกันสุขภาพที่ซื้อไว้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เช่น ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่โรงพยาบาลรัฐบาล 80,000 บาท แต่วงเงินคุ้มครองค่าผ่าตัดที่ 50,000 บาท ผู้เอาประกันต้องจ่ายส่วนต่างเอง หรือหากผู้เอาประกันมีประกันสังคมอยู่ด้วย สามารถยื่นบัตรควบคู่กันไปได้ และอาจจะไม่ต้องควักเงินจ่ายค่าส่วนต่างเอง แต่ต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลที่เลือกผูกกับประกันสังคมเท่านั้น นอกจากนั้นแม้จะมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าฟรี แต่ยังไม่มีการรักษาข้อเข่าเสื่อมฟรี ดังนั้นการทำประกันสุขภาพติดไว้ก็ช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินในกระเป๋า ไม่ให้หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล

ประสบอุบัติเหตุต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ประกันคุ้มครองมั้ย?

ประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุตามความจำเป็นทางการแพทย์ ซึ่งหากสาเหตุของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเกิดจากอุบัติเหตุ ประกันก็จะคุ้มครอง แต่ต้องไม่เกินทุนประกันค่ารักษาพยาบาลที่ทำไว้ ซึ่งโดยส่วนมากผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุมักจะมีอาการกระดูกหัก กระดูกแตกก่อน การพิจารณาการผ่าตัดข้อเข่าเทียมจึงเกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย ที่รู้ใจมีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้คุณเลือกปรับแผนความคุ้มครองได้ตามใจ เลือกเพิ่มความคุ้มครองขับขี่และโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ และกีฬาอันตรายได้อีกด้วย

เมื่อผู้ป่วยเสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว ผู้ป่วยต้องกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ต่อไปนี้จะเป็นวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเข่า

วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

เรามารถดูแลตัวเองตามวิธีดูแลหลังผ่าตัดเข่าดังนี้

  1. ทำกายภาพบำบัดที่หัวเข่าและกล้ามเนื้อขาอย่างสม่ำเสมอ 
  2. พยายามงอเข่าให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนหลังการผ่าตัดต้องมีวินัยในการฝึกเพื่อป้องกันการเกิดอาการข้อเข่าตึงแข็ง งอ หรือเหยียดได้ไม่เต็มที่ 
  3. ฝึกเดินขึ้นและลงบันได การขึ้นบันไดให้เอาขาข้างที่ไม่ได้ทำการผ่าตัดนำ ส่วนตอนลงบันได ให้ใช้ขาข้างที่ผ่าตัดนำ
    **ข้อควรระวัง สำหรับผู้ใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยัน ต้องระวังมากเป็นพิเศษ
  4. ฝึกเดินด้วยไม้ค้ำหรือคอกช่วยเดินใน 2 สัปดาห์แรก เพื่อช่วยพยุงน้ำหนักไม่ให้กดทับหัวเข่ามากจนเกินไป และช่วยป้องกันการลื่นล้ม
  5. ฝึกเดินระยะสั้น ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะทางในการฝึกให้มากขึ้น
  6. ควรนอนพักและยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ หลังจากการฝึกเดิน หรือหากต้องนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน โดยการใช้หมอนหนุนบริเวณขา เพื่อลดการคั่งของเลือดและของเหลวในร่างกาย สามารถใช้แผ่นประคบเย็นประคบเข่าเพื่อช่วยลดอาการบวมได้ 
  7. หากต้องการทำกิจวัตรประจำวัน ควรทำอย่างช้า ๆ เช่น เอี้ยวตัว หมุนตัว ก้มตัว ลุกขึ้น หรือการล้มตัวลงนอน และควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ พยายามอย่าให้ขาข้างที่ผ่าตัดถูกทับนานๆ 
  8. ควบคุมน้ำหนัก เพื่อช่วยลดแรงกระแทกและให้เข่าเทียมไม่ต้องรองรับน้ำหนักมากจนเกินไป
  9. สามารถเพิ่มการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทก หลังจากที่หายเจ็บแผลผ่าตัดเข่าและเดินได้คล่องแล้ว เช่น เดินในน้ำ ว่ายน้ำ แต่ต้องแน่ใจก่อนว่าแผลผ่าตัดเข่าแห้งสนิทเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเข่า
  10. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  11. ดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และหากต้องทำฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรือรักษาโรคอื่น ๆ ใน 2-3 ปีหลังการผ่าตัด ควรแจ้งข้อมูลให้แพทย์ทราบว่าเคยผ่านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมาก่อน เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้ยาป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดเข่าใด ๆ ซึ่งอาจจะลุกลามไปถึงข้อเข่าเทียมได้จากการทำฟัน หรือผ่าตัด 
  12. พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการหลังผ่าตัด ดูแผลผ่าตัดเข่า รวมถึงการเอกซเรย์หัวเข่า และตรวจร่างกาย
วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม | ประกันออนไลน์ | รู้ใจ

อายุที่มากขึ้น น้ำหนักตัวที่เกินพอดี โรคประจำตัว รวมถึงพฤติกรรมที่ใช้เข่าหนัก ๆ อาจเป็นสาเหตุของโรคได้ทั้งหมด การดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น เมื่อดูแลตัวเองดี มีสุขภาพที่ดี ความเสี่ยงโรคประจำตัวหรือการต้องเข้ารับผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าก็จะน้อยลง ทั้งยังไม่ต้องเสี่ยงรับทั้งความเจ็บปวดจากอาการป่วยและความเครียดของค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย และสำหรับคนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ก็ต้องดูแลตัวเองตามวิธีดูแลหลังผ่าตัดเข่าอย่างเคร่งครัด และคอยติดตามอาการหลังผ่าตัดตามนัดของแพทย์เสมอ

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)

คำจำกัดความ

ข้อเข่าเทียม อุปกรณ์ที่ใช้แทนข้อเข่าที่เสื่อมสภาพ ทำมาจากโลหะสังเคราะห์ ซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ ไทเทเนียม โคบอลต์โครเมียม เซรามิก และพลาสติกพิเศษ
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด อาการหรือปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด มีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด ไม่อยากอาหาร การติดเชื้อ