Roojai

4 ภัยร้ายใกล้ตัว เร่งเซลล์มะเร็งให้เติบโต

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง | เซลล์มะเร็ง | อาหารก่อมะเร็ง | รู้ใจ

ถ้าพูดถึงปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง คนทั่วไปมักจะคิดออกเป็นอันดับแรกว่ามาจากกรรมพันธุ์ จริง ๆ แล้วปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ได้มีแค่การถ่ายทอดทางพันธุกรรมเท่านั้น ยังมีปัจจัยรอบตัวเราอีกหลายอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง

ทราบหรือไม่ ? ว่ามะเร็งมีเป็นร้อย ๆ ชนิดที่เกิดจากเนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยลักษณะเฉพาะตัวของเซลล์มะเร็งคือ ความผิดปกติของเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วและสามารถกระจายลุกลามไปยังอวัยวะรอบ ๆ บริเวณที่ใกล้เซลล์มะเร็ง โดยร่างกายจะไม่สามารถควบคุมการเติบโตหรือการแพร่กระจายได้

ปกติการควบคุมการเติบโตของเซลล์ในร่างกายของเรา จะมีการเกิดของเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลาเพื่อมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไป เป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ในขณะที่เซลล์ที่ผิดปกติ ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อไม่สามารถควบคุมการเติบโตของเซลล์เหล่านี้ มันจึงพัฒนาไปเป็นเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเสมอไป หากก้อนเนื้องอกนั้นไม่ได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ก็ถือว่าไม่เป็นอันตราย แค่ผ่าตัดทิ้งก็เรียบร้อย

มีหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เซลล์หน้าตาผิดปกติในร่างกายของเราพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ปัจจัยเหล่านั้น เช่น ปัจจัยทางด้านอาหาร สภาพแวดล้อม เรื่องของอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น

เรามาดูกันว่า มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ? ที่ไปเร่งการเติบโตของเซลล์มะเร็งในร่างกาย

อาหารก่อมะเร็ง | รู้ใจ

1.อาหารก่อมะเร็ง

ทุกอย่างมี 2 ด้าน อาหารก็เช่นเดียวกัน การเลือกกินนอาหารที่ถูกต้อง จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ไม่เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในทางกลับกัน หากกินแบบไม่เลือก กินตามใจปาก ตามความชอบความอร่อย อาหารก็สามารถทำร้ายเราได้เช่นกัน You are what you eat จึงเป็นจริงทุกครั้งไป

จากสถิติของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งโลกพบว่า กว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมะเร็งเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง อาหารประเภทไหนบ้างที่เป็นปัจจัยทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต

  • อาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูง

อย่างอาหารประเภทปิ้ง ย่าง และรมควัน จะมีสารที่มีชื่อว่า พีเอเอช หรือ Polycyclic Aromatic Hydrocarbon-PAH ที่เกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ ไขมันเหล่านี้เมื่อโดนความร้อน จะกลายเป็นน้ำมันหยดลงไปโดนถ่านและทำให้เกิดควัน ควันเหล่านี้เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งทั้งสิ้น มันจะลอยกลับขึ้นมาที่เนื้อสัตว์ เมื่อกินอาหารปิ้งย่างเป็นประจำ จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • อาหารไขมันสูง

ในบรรดาเนื้อสัตว์ทั้งหลาย เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ จะพบไขมันมากที่สุดในเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง คือ เนื้อวัวและเนื้อหมู และยังพบมากในไข่แดง นม เนย ชีส และโยเกิร์ต ไขมันที่ได้จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีส่วนไปกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น

  • อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่ง

อาหารแปรรูป อย่าง เนื้อเค็ม ไส้กรอก แหนม กุนเชียง หมูยอ เบคอน มักจะมีส่วนผสมของ “ดินประสิว” หรือ โปแทสเซียมไนเตรต สารดังกล่าวนี้ ช่วยทำให้อาหารแปรรูปนั้นคงสภาพ มีสีสันน่ากิน และมีคุณสมบัติในการกันบูดเช่นเดียวกับไนไตรต์และโซเดียมไนเตรต ที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเเบคทีเรียในอาหาร แม้ว่าจะมีประโยชน์ด้านถนอมอาหาร แต่หากกินอาหารแปรรูปเหล่านี้เป็นประจำ ร่างกายจะสะสมสารพิษเหล่านี้ จนก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • อาหารที่มีโซเดียมสูง

แม้ว่าเกลือจะมีประโยชน์กับร่างกายในการป้องกันโรคคอหอยพอก แต่ถ้าร่างกายได้รับเกลือมากจนเกินไป ประโยชน์ที่ควรจะได้อาจกลายเป็นโทษต่อร่างกาย เช่น พวกอาหารหมักดอง นาน ๆ กินทีมันก็ดีต่อสุขภาพ แต่หากกินอย่างเป็นประจำ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งหลอดอาหารได้

  • อาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย

เช่น ถั่ว เมล็ดธัญพืช พริกป่น พริกแห้ง หอม กระเทียม นมและขนมปัง อาหารเหล่านี้ หากเก็บไว้เป็นเวลานานจนเกินไป โดยเฉพาะในอากาศร้อนและมีความชื้นสูง หากเรานำมารับประทานจะก่อให้เกิดการสะสมของสารอะฟลาทอกซินที่ตับ และแน่นอนว่ามันจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับในที่สุด

นอกจากนี้ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลล์ เมื่อได้ดื่มเข้าสู่ร่างกายแล้ว มันจะเปลี่ยนเป็นสาร แอซีทาลดีไฮท์ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ มะเร็งช่องปาก และมะเร็งกระเพาะอาหาร

มลพิษ | เซลล์มะเร็ง | รู้ใจ

2.สภาพแวดล้อมก่อมะเร็ง

จริงอยู่ว่า มะเร็งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของยีนบางตัวในร่างกายของเรา แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากสภาพแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศจากท่อไอเสียรถยนต์ แสงแดดที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต ควันบุหรี่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไปกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง เมื่อร่างกายได้รับมลพิษทางอากาศอยู่เป็นประจำและได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ และพัฒนาไปเป็นมะเร็งปอดในที่สุด

คนแก่ | เสี่ยงมะเร็ง | ชรา | รู้ใจ

3.อายุก่อมะเร็ง

อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคมะเร็ง เพราะอวัยวะและระบบการทำงานในร่างกายของเราจะถดถอยลง ภูมิต้านทานที่เคยมีในช่วงวัยหนุ่มสาว ก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ร่างกายของคนที่อายุมากนั้น อ่อนแอลง เป็นสาเหตุให้เซลล์ร้าย อย่างเซลล์มะเร็งเติบโตได้ดี

  • ช่วงอายุ 45-60 ปี ช่วงวัยนี้ ฮอร์โมนจะเริ่มเสื่อมลง ระบบเผาผลาญทำงานช้า เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูก
ควัน | เซลล์มะเร็ง | บุหรี่ | รู้ใจ

4.พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันก่อมะเร็ง

พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ แม้ว่าพวกเราจะผ่านวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากันแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่จึงหันมาดูแล รักษาความสะอาดมากยิ่งขึ้น แต่พฤติกรรมที่เราดำเนินชีวิตเป็นประจำ ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งอยู่ดี เช่น

  • เสพติดของหวาน อาหารไขมันสูงและไม่กินผัก

พฤติกรรมเหล่านี้ มักจะเป็นพฤติกรรมของเหล่าบรรดาพนักงานออฟฟิศ ที่ทำงานแข่งกับเวลา และมักไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของอาหารการกิน เอาเร็วและสะดวกเข้าว่า จะสังเกตได้จากการกิน เช่น เดินเข้าร้านสะดวกซื้อ กินอาหารแช่แข็ง หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือหมูปิ้งทุกวัน เราจะเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ได้ทุกออฟฟิศ

อาหารที่กล่าวมานี้ เป็นอาหารโปรดชั้นดีของเซลล์มะเร็งทั้งหลาย หมายความว่า ทุกครั้งที่เรากินเข้าไป หมายถึงเรากำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งให้กับตัวของเราเอง ดังนั้น เราจึงต้องเลือกกินอาหารที่มะเร็งเกลียด อย่างอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ผัก ผลไม้ ลดของหวาน และอาหารไขมันสูง

  • นักปาร์ตี้ ดื่มจัด สูบจัด

สำหรับใครที่ชอบสังสรรค์เป็นประจำ ทั้งดื่ม ทั้งสูบ เมื่อใช้ร่างกายเเบบนี้เป็นระยะเวลานาน แน่นอนว่ามันจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายในร่างกายของเรา เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก และไม่เพียงแต่โรคมะเร็งเท่านั้น การสูบบุหรี่จัดอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอีกด้วย

  • ความเครียด

ความเครียดเปรียบเสมือนขนมหวานที่มะเร็งชอบ เพราะความเครียดจะไปเพิ่มอนุมูลอิสระในร่างกายของเรา และทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง เมื่ออนุมูลอิสระมีมากในร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีภาวะเครียด

  • การไม่ออกกำลังกาย

เกือบทุกบทความสุขภาพ มักจะบอกให้ทุกคนออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย โดยการออกกำลังกายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรคอ้วนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ถึงแม้ว่า สถิติของผู้ป่วยมะเร็งจะเพิ่มมากขึ้นทุกปีก็ตาม แต่สถิติของผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาหายก็มีมากขึ้นเช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องสังเกตความผิดปกติของตัวเอง ตรวจสุขภาพใหญ่ประจำปี ตรวจคัดกรองมะเร็งตามช่วงอายุ รวมถึงการทำประกันมะเร็ง ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีป้องกันโรคมะเร็ง และลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สินในวันที่เราต้องรักษาอาการมะเร็ง

สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)